วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

นายจันษร โจรธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา

นายจันษร โจรธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา
          เมื่อกล่าวถึง โจร ที่ปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ ในตอน เรื่องพ่อแม่ของคนทั้งสาม ปรากฏ ขุนโจรชื่อ นายจันษร ในสายตาของนักอ่านทั่วไป อาจจะมองว่าเป็นตัวละครหนึ่ง ที่ไม่มีความสำคัญ แต่เมื่อพิจารณาให้ดี นายจันษรเป็นตัวละครที่ส่งผลต่อการดำเนินเรื่องและสะท้อนภาพของโจรในอดีตได้ดียิ่ง
ในเรื่องดังกล่าวนายจันษรมีถิ่นอาศัยอยู่ที่บ้านโป่งแดง เป็นที่ยอมรับนับถือกันในหมู่โจรในผู้นำในการปล้น อีกทั้งมีอุปนิสัยความเป็นผู้นำและมีความรู้ในสรรพวิชาต่างๆ ทั้งทางด้าน พิธีกรรม การต่อสู้และเวทมนตร์คาถา วันหนึ่งได้นำพรรคพวกเข้าปล้นบ้านขุนศรีวิชัยผู้เป็นบิดาของขุนช้างและฆ่าขุนศรีวิชัยตายในที่สุด
หากนายจันษรไม่เข้ามาปล้นและฆ่าขุนศรีวิชัยตาย เรื่องราวของตัวละครที่เกี่ยวข้องอาจจะดำเนินชีวิตไปตามปกติ กล่าวคือตัวขุนศรีวิชัย จะได้สั่งสอนเตือนสติขุนช้าง ไม่ให้ไปเอาภรรยาคนอื่นมาเป็นของตน ดังกรณีที่ขุนช้างขอนางพิมพิลาไลย จนต้องมีความถึงพระพันวษาอยู่เป็นนิจ ทั้งนี้เพราะตัวขุนศรีวิชัย มีความเป็นผู้นำ คือเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อขุนศรีวิชัยตายลง หน้าที่ดูแลจึงตกเป็นของนางเทพทองผู้เป็นมารดาของขุนช้าง ตัวขุนช้างจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างสุขสบาย ทำให้คิดว่าเงินทองสามารถซื้อได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งพรากนางพิมพิลาไลยมาจากขุนแผน โดยไม่สนใจว่าจะผิดศีลธรรมหรือไม่
ผู้แต่งพยายามสอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น โดยการนำเรื่องราวของโจรมาผนวกไว้ในเรื่อง เพื่อให้เรื่องราวมีสีสันและรสชาติมากยิ่งขึ้นถึงแม้ว่าตัวละครดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทเด่นชัดนัก แต่ผู้แต่งสามารถสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้นให้เห็นว่า โจรได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
          หากมองอุปนิสัยของนายจันษรจะพบว่าไม่ใช่โจรธรรมดาด้วยที่มีความเป็นผู้นำและมีความรอบรู้ต่างๆ แถมยังกล้าต่อกรกับขุนศรีวิชัย ที่มีอำนาจเป็นถึงขุนนาง ตรงนี้อาจเป็นภาพสะท้อนความเสื่อมของระบบราชการที่ไม่สามารถจัดการผู้คนได้ สุเนตร ชุตินธรานนท์กล่าวว่า ไพร่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแย่งชิงอำนาจหรือแข็งข้อต่อกษัตริย์ที่ส่วนกลางมีปัจจัยมาจากปัญหาความอ่อนแอทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจสังคมอันเกิดจากภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง ตลอดไปจนถึงความทุกข์ยากของไพร่ภายใต้ระบบศักดินาเป็นสำคัญ เช่น การก่อกบฏของไพร่ในสมัยอยุธยาที่สำคัญ คือ กบฏญาณพิเชียร เป็นชื่อบุคคลว่า “วิเชียร” มีความรู้ทางศาสตราคม สาเหตุของก่อกบฏมาจากปัญหาด้านการเกษตร อาศัยกำลังของพวกชาวนาเป็นสำคัญ มีการเตรียมงานและวางแผนทางยุทธศาสตร์อย่างมีขั้นตอน
ต่อมาคือกบฏธรรมเถียรเกิดขึ้นในรัชกาลพระเพทราชามีผู้นำกบฏเป็นข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศได้รวบรวมชาวชนบทเข้าร่วมเพื่อแย่งชิงอำนาจ จากความไม่พอใจในสภาวะที่เป็นอยู่และต้องการจะเลื่อนฐานะทางสังคมให้ดีขึ้น
สุดท้ายคือกบฏบุญกว้าง เกิดขึ้นในรัชกาลของพระเพทราชาอีกเช่นกัน แต่กบฏครั้งนี้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากส่วนกลาง เพราะเป็นกบฏที่เกิดขึ้นที่เมืองนครราชสีมา เกิดภายใต้สภาวะแวดล้อมและปัจจัยที่แปลกออกไปโดยเฉพาะเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งรวมถึงลักษณะของประชากรลักษณะวัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ
กบฏทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยานั้น หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจว่า เป็นกบฏที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นมีผู้นำที่เป็นชาวบ้านที่เคยบวชเรียนมาก่อนและได้ใช้ความรู้ในทางพุทธและไสยศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการรวบรวมผู้คนเพื่อก่อการกบฏ
ดังนั้นนายจันษรคงมีสถานะเป็นเพียงไพร่ผู้หนึ่งที่ประสบปัญหาทางสังคม จากการที่ต้องทำมาหากินกับเกษตรกรรมและต้องรับใช้เจ้าขุนมูลนาย จึงเกิดการรวมกลุ่มขึ้นเป็นซ่องโจร ในยามว่างเว้นจากการงาน ชักชวนสมัครพรรคพวก เข้าปล้น ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในหนังสือขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ว่า การขโมยเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ที่ท้าทายทั้งเจ้าของบ้านและทางการหรือก่อนปล้นจะป่าวประกาศล่วงหน้าว่าจะปล้น(ขุนช้างขุนแผนฉบับวัดเกาะ : หน้า 30 )
          ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การปล้นของนายจันษร ไม่ใช่ปล้นอย่างธรรมดาทั่วไป แต่ปล้นด้วยการใช้วิชาความรู้ที่มีมา ตรงนี้ยังสะท้อนว่า ตัวของนายจันษร ได้ร่ำเรียนวิชามาเป็นอย่างดี เพราะรอบรู้การต่อสู้       การประกอบพิธีกรรมและคาถาต่างๆ  โดยเฉพาะตัวจันษรมีสถานะเป็นผู้มีครูในอาชีพโจร ดังปรากฏในตอนจันษรปลูกศาลระลึกถึงครู ก่อนจะเข้าปล้นว่า นายจันษรตั้งนะโมวันทา... ครูบาอาจาริย์ชำนาญฤทธิ์”(เรื่องเดียวกัน : หน้า 30 )
          ในส่วนของวิชาอยู่ยงคงกระพันและคาถาอาคม แน่นอนว่าจันษรรอบรู้มาเป็นอย่างดี ดังในตอนที่ฆ่าขุนศรีวิชัยไม่ตาย เพราะตัวขุนศรีวิชัยมีวิชาเช่นกัน จันษร จึงเอาหลาวตำรูทวารเข้าไป ขุนศรีวิชัยจึงดับจิตร์(เรื่องเดียวกัน : หน้า 34 )
หรือแม้แต่การประลองของกันในพรรคพวกตน ที่ชำนาญเป็นแน่แท้ตนสามารถใช้ไสยศาสตร์มาเป็นเกราะป้องกันตนได้ ดังตอนที่ประลองของกับหมู่โจร ที่กำลังสำราญกับการดื่มสุราว่า ครั้นเมาแล้วฟันกันเปนจ้าละหวั่น     ตึงเปล่าไม่เข้าเหล่าขโมยนั้น...ถูกกันไม่เข้าเปล่าทุกตึง...(เรื่องเดียวกัน : หน้า 30 )
          นอกจากวิชาการประกอบพิธีกรรม วิชาคงกระพันและคาถาอาคม จันษรยังมีความชำนาญในการรบด้วยศาสตราวุธ ดังตอนรบกันกับขุนศรีวิชัย ที่ว่า
เล่นจนหอกต่อหอกเปนประกาย ทั้งสองนายฤทธาทั้งกล้าหาญ
ดาบต่อดาบเข้าประทะระราน      ทนทานระหดไม่งดกัน
(เรื่องเดียวกัน : หน้า 34 )
          ทั้งอุปนิสัยและวิชาความรู้ที่มีรอบด้านของจันษร และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่โจร ทำให้จันษรกล้าที่จะนำพรรคพวกตนไปต่อกรกับขุนศรีวิชัย ซึ่งมีฐานะเพียบพร้อมไปด้วยกำลังทรัพย์และบริวาร อาจกล่าวได้ว่า นายจันษร ไม่ได้เป็นเพียงโจรสามัญทั่วไป แต่ด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่า ทำให้ตัวจันษรได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าโจร และสามารถเป็นผู้นำการปล้นครั้งใหญ่ได้สำเร็จ
          หากมองบริบทความเป็นโจรระหว่างยุคปัจจุบันกับโจรสมัยโบราณ โดยมองผ่านจันษร จะเห็นถึงความแตกต่างหลายประการ ประการแรกคือ โจรสมัยโบราณเป็นโจรที่มีสรรพวิชาความรู้มากมาย ทั้งคาถาอาคม     การประกอบพิธีกรรม
          ประการที่สอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีเกี่ยวกับโจรว่าสมัยโบราณถือว่าการปล้นเป็นกิจกรรมยามว่างเว้นจากการงานและเป็นกีฬาเพื่อความบันเทิงชนิดหนึ่ง
          ประการที่สาม บุคลิกและการวางตัวของโจรในสมัยโบราณ จะมีความกล้าหาญ มีสภาวะความเป็นผู้นำสูง
และประการสุดท้ายหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในหนังสือขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่ว่าโจรสมัยโบราณมีการป่าวประกาศล่วงหน้าว่าจะปล้น เพื่อเป็นการท้าทายทั้งเจ้าของบ้านและทางการ แสดงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นโจร

ใครหลายคนมักมองว่าโจรไม่ว่าสมัยไหน ต้องสวมบทบาทในมาดของความโหดร้ายน่ากลัว แต่หากพิจารณาโจรในแต่ละยุคสมัย จะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก โจรสมัยก่อนถือเป็นอาชีพหนึ่งที่คนในสังคมโบราณ ไม่ได้มองว่าเป็นเพียงมิจฉาชีพหนึ่งในสังคมปัจจุบัน ดังกรณีของนายจันษร ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ ถือเป็นตัวละครหนึ่งที่ไม่ได้มีบทบาทที่เด่นชัด แต่ผู้แต่งได้สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนยุคนั้น โดยพยายามสอดแทรกเรื่องราวของวิถีของโจร ผ่านตัวละครที่มีชื่อว่า “นายจันษร”ไว้นั่นเอง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น