วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในสุโขทัยผ่าน “งานศิลปกรรม”

อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในสุโขทัยผ่าน “งานศิลปกรรม”

บทนำ
          อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเริ่มมีบทบาทในพื้นที่ประเทศไทยนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมาและปรากฏอย่างเด่นชัดในพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และได้แผ่อิทธิพลแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งก็เป็นผลมาจากแรงผลักดันทางการค้าและต้องการออกทะเลทางอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งเส้นทางในการขยายอิทธิพลดังกล่าวได้ครอบคลุมพื้นที่ศรีสัชชนาลัยและสุโขทัย ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมเขมรในพื้นที่ ซึ่งต่อมาวัฒนธรรมบางส่วน (cultural trait) ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมการเกิดขึ้นของรัฐสุโขทัยในเวลาต่อมา ดังนั้นงานศึกษาชิ้นนี้จึงมุ่งนำเสนอให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในสุโขทัยผ่าน “งานศิลปกรรม” ตั้งแต่ช่วงระยะเวลาก่อนการเกิดขึ้นของรัฐสุโขทัยตลอดจนสมัยสุโขทัย ทั้งในพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชชนาลัย

อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในประเทศไทยก่อนการเกิดรัฐสุโขทัย
บริบททางการเมืองของเขมรในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 โดยภาพรวมแล้วจะปรากฏในภาวะของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองและการแย่งชิงราชสมบัติในราชสำนักเขมร ส่วนอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรที่แพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยนั้นมักปรากฏในลักษณะของการขยายพระราชอำนาจทางการเมืองการปกครองเป็นหลักประกอบกับความเชื่อศาสนาพราหมณ์ เป็นเครื่องมือทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เช่น รัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 กับการปราบปรามเมืองต่างๆ หรือ รัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 กับการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น สำหรับในช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 บริบททางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางการค้าได้กลายเป็นแรงผลักดัน/ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้เขมรจำเป็นต้องขยายอิทธิพลเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยอย่างเข้มข้น กล่าวคือ ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เส้นทางการค้าทางทะเลตอนใต้ บริเวณแหลมมลายูถูกกลุ่มโจฬะยึดครอง ขอมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางการค้าออกสู่ทะเลเส้นทางอื่น ดังนั้นการขยายอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมของเขมรในช่วงเวลาดังกล่าวจึงแพร่กระจายเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างเข้มข้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเข้ามาสู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาจเป็นเพราะ ประการแรก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเมืองที่เป็นฐานอำนาจของขอมตั้งอยู่ คือ ลวปุระ หรือลพบุรี (นับตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้า     สุริยวรมันที่ 1 เป็นต้นมา)[1] ประการที่สอง หากขยายตัวไปทางทิศเหนือและตะวันออกต้องเผชิญกับรัฐจาม     (จามปา) และรัฐเวียดซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งและศัตรูทางการเมือง และประการสุดท้ายคือเส้นทางเดินเรือทางทิศใต้อยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมของโจฬะ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดเส้นทางการค้าจากละโว้ ไปยังกำแพงเพชรจนถึง เมืองพันและไปออกอ่าวเมาะตะมะ (เมืองเมาะตะมะ) ขณะเดียวกันจารึกในปราสาทพระขรรค์ ที่เมืองพระนครได้กล่าวถึงเมืองต่างๆในพื้นที่ภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคตะวันตกของประเทศไทย อาทิ สุวรรณปุระ (จังหวัดสุพรรณบุรี)     ศัมพูกปัฏฏนะ (จังหวัดราชบุรี) ชัยราชบุรี (วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี), ศรีชยสิงบุรี (เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี), ศรีชยวัชรบุรี (วัดมหาธาตุและวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี) ลโวทยปุระ (จังหวัดลพบุรี)[2] รวมทั้งเมืองอื่นๆ ทั้งหมด 23 แห่ง[3] ซึ่งเมืองดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่ล้วนแล้วอยู่ภายใต้อิทธิพลเขมร ประกอบกับความเชื่อทางศาสนาพุทธมหายานและศาสนาพราหมณ์ในแต่ละท้องที่ อย่างไรก็ตามภายหลังจากพระเจ้า ชัยวรมันที่ 7 สวรรคตอำนาจทางการเมืองของเขมรในพื้นที่ประเทศไทยก็เริ่มลดน้อยลง จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐต่างๆขึ้นมาในพื้นที่ประเทศไทย

ศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร และที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่ปรากฏในพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชชนาลัย
          ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐสุโขทัยในพื้นที่ดังกล่าว วัฒนธรรมเขมรได้แพร่กระจายเข้ามาสู่ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน ดังเห็นได้จาก หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นงานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมร หลักฐานหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่ของอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรได้ชัดเจนคือ โบราณสถานปราสาทเขาปู่จ่า ที่บ้านนาสระลอย ตำบลคิรีมาศ อำเภอคิรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมศิลปะเขมรแบบบาปวน อาคารก่ออิฐและขัดฝนจนเรียบ ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมและกำหนดช่วงเวลาของอิทธิพลเขมรที่เข้ามาในพื้นที่ไว้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17[4] ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่อาจสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ภายใต้อำนาจทางการปกครองของขอม หรือ อาจหมายถึงการนับถือศาสนาที่รับมาจากวัฒนธรรมเขมรผ่านการติดต่อสัมพันธ์ในเชิงการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างกัน สำหรับปราสาทเขาปู่จ่าเป็นอาคารประธานหลังเดียว 1 องค์ ซึ่งจากการขุดแต่งพบเศียรพระโพธิ์สัตว์อวโลกิเตศวรและประติมากรรมเทวรูปสตรี สำหรับประติมากรรมพระอวโลกิเตศวรนั้นมีลักษณะสำคัญแบบบาปวนปรากฏ คือ แนวเส้นผมและคิ้วต่อกันเป็นรูปปีกกาและพระเนตรเปิด จากการขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าว ทำให้สันนิษฐานได้ว่าชุมชนในบริเวณนี้อาจนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานซึ่งรับความเชื่อมาจากวัฒนธรรมเขมร[5] ในพื้นที่เมืองสุโขทัย (เดิม) และบริเวณโดยรอบพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับศิลปกรรมเขมรที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่เข้ามาปกครองในพื้นที่อย่างเด่นชัด กล่าวคือ โบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรในพื้นที่ ได้แก่ “ศาลตาผาแดง”  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ส่วนรูปแบบของอาคารเป็นศิลปะเขมรแบบบายนอย่างชัดเจน กล่าวคือ ประการแรก วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างคือศิลาแลงซึ่งมีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมโดยทั่วไปในการก่อสร้างปราสาทในวัฒนธรรมเขมรแบบบายน ประการที่สองฐานบัวลูกฟักขนาดใหญ่เต็มท้องไม้ ประการที่สามการเพิ่มมุมที่ทำให้มุมประธานใหญ่กว่ามุมประกอบและการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมในวัฒนธรรมเขมร คือเทวดาและเทวสตรี จำนวน 6 องค์ในศิลปะแบบบายน[6] ซึ่งทำให้เห็นถึงความเข้มข้นของอำนาจทางวัฒนธรรมเขมร,       
“วัดพระพายหลวง” (รูปภาพที่ 5) เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งทางทิศเหนือนอกตรีบูร (เขตเมืองเก่า) มีคูน้ำล้อมรอบตำแหน่งของปรางค์ทั้ง 3 จะเรียงตัวกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ และลักษณะอาคารสร้างขึ้นตามรูปแบบของศิลปะเขมรแบบบายนและเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาพุทธมหายาน สำหรับวัดแห่งนี้ยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาต่อมา โดยเห็นได้จากการมีวิหารด้านหน้าและอุโบสถด้านหลัง[7] และเจดีย์สี่เหลี่ยมซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะรับต้นแบบจากเจดีย์สี่เหลี่ยมวัดกู่กุด จังหวัดลำพูน[8] รวมทั้งยังพบโบราณวัตถุพระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิประดิษฐานในบรรพแถลง พระพุทธรูปดังกล่าวมักพบตามศาสนสถานที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่น ปราสาทตาพรหม, ปราสาทพระขรรค์, เป็นต้น[9] ส่วน “วัดศรีสวาย”  เป็นวัดที่ถูกแปรสภาพและมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องจนยากแก่การกำหนดอายุสมัยได้และมีคูน้ำภายในเป็นรูปตัวยู (U) อย่างไรก็ตามเชื่อกันว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรด้วยรูปแบบ ปราสาทแบบเขมร 3 หลัง เรียงกันไปในทิศตะวันออก-ตก ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งเป็นแบบแผนในศิลปะเขมรแบบบายน (รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ (เทวสถาน)[10] เทียบได้กับพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี[11] ส่วนในพื้นที่เมืองศรีสัชชนาลัย ได้พบหลักฐานทางโบราณสถานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมเขมรด้วยเช่นกัน 3 แห่ง ได้แก่ “วัดเจ้าจันทร์” (รูปภาพที่ 1) ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ร่วมสมัยกับวัดพระพายหลวง เป็นปราสาทหลังเดียวและได้รับการบูรณะต่อเติมในสมัยสุโขทัย โดยสังเกตได้จากวิหารทางด้านหน้าของปราสาทและหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันถึงวัฒนธรรมเขมรได้อย่างชัดเจนคือ จากการขุดค้นชั้นดินวัฒนธรรมเขมร พบตลับเครื่องถ้วยแบบเขมร, “วัดชมชื่น” ปัจจุบันโบราณสถานที่ปรากฏอยู่บนพื้นดินนั้นสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยทั้งสิ้น หากแต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบว่ามีการก่อทับฐานอาคาร 2 ครั้ง[12] ประกอบกับพบเครื่องถ้วยเขมรแบบเคลือบสีน้ำตาล
          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าก่อนการเกิดขึ้นทั้งสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยต่างก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมเขมรที่เกิดขึ้นก่อนในแต่ละพื้นที่โดยเห็นได้จากศาสนสถานที่ปรากฏ หรืออีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนให้เห็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมขอมได้เข้ามามีบทบาทและปกครองในพื้นที่สุโขทัย อย่างน้อยสภาพสังคมและวัฒนธรรมในช่วงระยะเวลาดังกล่าวย่อมได้รับอิทธิพลจากเขมรโดยตรงและเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมดังจะได้กล่าวในหัวข้อถัดไป นอกจากนี้หากประกอบกับข้อความจากศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ที่กล่าวถึงกลุ่มขอมสบาดโขลญลำพงที่มีอำนาจเหนือสุโขทัย ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจเขมรในขณะนั้น ต่อมาแม้ว่าภายหลังขอมจะหมดอำนาจลงแต่ การสืบเนื่องทางวัฒนธรรมเขมรในแง่ศิลปกรรมนั้นยังคงปรากฏอยู่ กล่าวคือ งานศิลปกรรมเขมรโดยเฉพาะศาสนสถานนั้นยังคงได้รับอิทธิพลเขมรเข้ามาปรับใช้ กล่าวคือ งานศิลปกรรมในระยะแรกของสุโขทัยรับอิทธิพลจากเขมรค่อนข้างมาก เช่น เจดีย์บริวาร วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย  โดยเฉพาะเจดีย์ประจำทิศสี่องค์ มีลักษณะเป็น “เจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัย” มีรูปแบบเค้าโครงคล้ายคลึงกับปราสาทแบบขอม ก่อด้วยศิลาแลง กล่าวคือ ส่วนฐาน คือฐานบัวลูกฟัก ถัดขึ้นมาส่วนเรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสามด้านภายในมีประติมากรรมพระพุทธรูปยืนหรือลีลา ขณะที่ส่วนยอดเหนือเรือนธาตุคือชั้นซ้อนแบบปราสาทขอม (ซ้อนตรงส่วนเรือนธาตุขึ้นไป) หากแต่รายละเอียดได้แปรสภาพไปเป็นแบบที่เรียบง่าย แต่ยังคงมีการประดับ บันแถลง (กลีบขนุน) ตามระเบียบแบบขอมอยู่ส่วนยอดบนสุดปัจจุบันได้ทลายลงหมดแล้วหากแต่มีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นดอกบัว[13] จากรูปแบบดังกล่าวทำให้สามารถกำหนดอายุของเจดีย์บริวารได้ว่า น่าจะสร้างขึ้นในระยะแรกที่สุโขทัยรับรูปแบบเขมร ขณะเดียวกันก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเจดีย์องค์ประธานด้วยว่าแต่เดิมก่อนหน้าที่จะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น น่าจะเคยเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบเดียวกับเจดีย์บริวารแต่มีขนาดใหญ่กว่า[14] แต่อย่างน้อยจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมาแม้จะยังไม่พบเจดีย์ที่อยู่ข้างในแต่บริเวณฐานการสร้างซ้อนทับเจดีย์ประธานจึงทำให้เชื่อว่าเป็นการสร้างซ้อนทับ[15] อย่างไรก็ตามสำหรับรูปทรงปัจจุบันของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ สุโขทัย ก็สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรผ่านแบบแผนด้านศิลปกรรมด้วยเช่นกัน แต่ได้นำมาผสมผสานกับอิทธิพลอื่นๆที่เข้ามาในสุโขทัย กล่าวคือ ในส่วนของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น ส่วนกลาง หรือส่วนเรือนธาตุของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่มีลักษณะเพรียวขึ้นนั้นแปรสภาพ/ปรับปรุงจากส่วนเรือนธาตุขนาดใหญ่ในแบบแผนของศิลปะเขมร ประกอบกับการประดับกลีบขนุนที่มุมบนเรือนธาตุ[16] ที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำเอารูปแบบศิลปกรรมเขมรมาประยุกต์หรือปรับใช้ ผสมผสานเข้ากับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชุดอื่น เช่น ส่วนยอดที่เป็นทรงดอกบัวตูมและถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอดตามลำดับนั้น อาจสะท้อนถึงอิทธิพล (ศิลปะ) พุกาม และส่วนฐานที่เป็นลักษณะฐานบัวลูกแก้วอกไก่คาด 2 เส้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมล้านนา (ด้านศิลปกรรม) มาผสมผสานด้วยเช่นกัน จนเกิดเป็นรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ในช่วงเวลาหนึ่งของสุโขทัย หรืออีกนัยหนึ่งสะท้อนถึงการติดต่อหรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือการแลกรับ ปรับใช้ทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐนั้นเอง
ส่วนที่ศรีสัชชนาลัย “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง” แม้ว่าเจดีย์ประธานจะเป็นรูปแบบงานศิลปะอยุธยาตอนต้น (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21) แล้วก็ตาม หากแต่ร่องรอยบริเวณโดยรอบยังปรากฏให้เห็นถึงอิทธิพลงานศิลปกรรมแบบขอม คือ “ปราสาทเฟื้อง” หรือยอดซุ้มประตูทางเข้าวัดฯ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะของอิทธิพลศิลปกรรมเขมรปรากฏอยู่ ประการแรก ปูนปั้นรูปใบหน้าขนาดใหญ่ทั้ง 4 ทิศ คล้ายกับที่มีอยู่ที่ยอดประตูเมืองนครธม ประการที่สอง ยอดทรงดอกบัวตูมประดับโคนด้วยกลีบขนุนซึ่งอาจปรับปรุงมาจากปราสาทเขมร ประการที่สาม รูปแบบงานปูนปั้นแบบนูนต่ำบริเวณฐานของปราสาทเฟื้องนั้นยังคงมีลักษณะที่เป็นแบบเขมรอยู่ กล่าวคือ ใบหน้าเหลี่ยม หน้าผากกว้าง ท่าร่ายรำและการนุ่งผ้า เป็นต้น[17] จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของงานศิลปกรรมสุโขทัยและศรีสัชชนาลัยในวัฒนธรรมเขมรที่สืบเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนกระทั่งถึงสมัยสุโขทัยก็ตาม อีกทั้งงานศิลปกรรมดังกล่าวยังเป็นภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของสุโขทัยที่รับอิทธิพลเขมรด้วยเช่นกัน

ภาพสะท้อนอิทธิพลเขมรผ่านงาน “ศิลปกรรม”
          นอกเหนือจากพัฒนาการงานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่ปรากฏในสุโขทัยและศรีสัชชนาลัย งานศิลปกรรมดังกล่าวยังเป็นเสมือนภาพแทนและเป็นสิ่งที่ยืนยัน/บ่งบอกของการรับวัฒนธรรมเขมรที่นอกเหนือจากแบบแผนทางศิลปกรรมแล้วยังรวมไปถึงวิธีคิด/ระบบความเชื่อ การจัดระเบียบทางสังคมและองค์ความรู้ต่างๆ ดังนั้นอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรจึงมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของสุโขทัยนับตั้งแต่ภายหลังสถาปนาขึ้นมา ซึ่งงานศิลปกรรมสามารถสะท้อนให้เห็นได้ 3 ประการ ดังนี้
          ประการแรก : ด้านการจัดการพื้นที่
องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมขอมในมิติของการจัดการพื้นที่ ประการหนึ่งที่สำคัญคือ รูปแบบของผังเมืองและการจัดตำแหน่งความสำคัญของพื้นที่ กล่าวคือ อิทธิพลขอมได้ส่งผลต่อรูปแบบผังเมืองของสุโขทัย ซึ่งเห็นได้ชัดจากประการแรก รูปร่างผังเมืองที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันเป็นระเบียบการสร้างเมืองแบบขอม เห็นได้ชัดจากผังของวัดพระพายหลวง ขณะที่ตัวเมืองสุโขทัยนั้นก็ได้รับอิทธิพลผังเมืองแบบขอมเช่นเดียวกันคือการทำเป็นผังเมืองสี่เหลี่ยม หากแต่เนื่องด้วยบริบททางสภาพแวดล้อมดังนั้นการทำคูน้ำล้อมรอบนั้นจึงมีการขุดขยายถึงสามชั้นเพื่อให้สอดรับกับการกักเก็บน้ำให้มีปริมาณที่เพียงพอ อีกทั้งยังกำหนดพื้นที่กึ่งกลางของเมืองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สำหรับสุโขทัยก็หมายถึงตำแหน่งที่ตั้งของ “วัดมหาธาตุ” ที่อยู่กลางเมืองเป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุเช่นเดียวกับศาสนสถานของขอม และอีกประการหนึ่งคือ การสร้างคูน้ำล้อมรอบศาสนสถาน ซึ่งหากดูจากแผนผังศาสนสถานต่างๆจะพบว่าล้วนแล้วแต่มีคูน้ำล้อมรอบทั้งสิ้น ประกอบกับมีการขุดสระตระพังต่างๆภายในเมือง เช่น วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดตระพังสอ ฯลฯ ในอีกแง่หนึ่งการสร้างคูน้ำล้อมรอบศาสนสถานก็เป็นวิธีการจัดการน้ำรูปแบบหนึ่งในการระบายน้ำและชักน้ำเข้ามาในเมือง รวมไปถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ควบคู่ไปกับระบบความเชื่อที่ให้ความหมายน้ำที่อยู่รอบพุทธศาสนสถานว่าเปรียบเสมือน “ทะเลสีทันดร” อีกทั้งยังมีความหมายเป็นนทีสีมาหรือการใช้คูน้ำกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นแนวคิดของการผสมผสานและประยุกต์ใช้ระหว่างศาสนากับระบบชลประทาน ซึ่งชุดความคิดดังกล่าวไม่พบที่ศรีสัชชนาลัยเพราะในแง่หนึ่งบริบททางสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน กล่าวคือ เมืองศรีสัชชนาลัยมีแม่น้ำยมไหลผ่านเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ต่างจากเมืองสุโขทัยที่มีเพียงแม่น้ำแม่รำพันไหลผ่านเท่านั้นและห่างไกลจากแม่น้ำสายสำคัญ[18] (แม่น้ำยม)
ประการที่สอง : ด้าน“ระบบความเชื่อและสภาพสังคม”
          มิติหนึ่งของวัฒนธรรมเขมรที่แพร่กระจายเข้ามาในพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชชนาลัยคือ “ศาสนาพราหมณ์” ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้วว่าศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่ขอมส่งอิทธิพลมาโดยตรงควบคู่กับอำนาจทางการปกครองโดยเห็นได้จากศาสนสถานต่างๆในพื้นที่ ประการหนึ่งศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามานั้นมีชุดความคิดที่เรียกว่า “ไศพาคม” (ศาสนาพระศิวะ) ซึ่งเป็นความเชื่อที่ใช้อ้างในการประกอบพิธีกรรมและเป็นพิธีที่เสริมความเชื่อได้ผสมผสานให้ผี[19] ในท้องถิ่นกลายเป็นผีที่ศักดิ์สิทธิ์หรือมีสถานภาพเป็น “เทพยดาอารักษ์” ตัวอย่างข้อความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวว่า “...มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย...” [20] นอกจากนี้ในระยะเวลาต่อมาแม้ว่ารัฐสุโขทัยจะสถาปนาขึ้นมาเป็นรัฐแล้วแต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังปรากฏอยู่และได้ผสมผสานกับความเชื่อในระยะหลัง (ศาสนาพุทธหินยาน) ดังข้อความจากจารึกหลักที่ 64 (จารึกคำปู่สบถ)[21] ดังข้อความที่ว่า “...ผิดปดสัจจาคำ ชื่อไศพาคม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งหลายอันพ้นไปจงอย่าให้รู้จัก ชื่อฝูงพระพุทธอันจักมาปางหน้าก็อย่าให้รู้จัก ศาสนาทั้งไศพาคมก็อย่าให้รู้จักศาสตร์ ชื่อเถรมหาเถรอันจำนงรู้นี้เสมอดังกูตัดคอแล...”[22] ยิ่งไปกว่านั้นศาสนาพราหมณ์ยังเป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งของผู้ปกครองในการสร้างเสริมความศักดิ์สิทธิ์และสร้างเสริมขวัญและกำลังใจต่อผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ดังกรณีของพระมหาธรรมราชาพญาลิไทประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ในหอเทวลัยมหาเกษตร[23] ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ซึ่งปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร) ในตอนท้ายด้านที่ 1 กล่าวถึงเรื่องประดิษฐานรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระ(คเณศ) ในเทวลัยมหาเกษตรที่ป่ามะม่วง[24] ส่วนในระดับของไพร่ หรือ ประชาชนทั่วไปหลักฐานหนึ่งที่ปรากฏเกี่ยวกับความเชื่อที่สัมพันธ์กับศาสนสถานในศิลปะขอมคือ “ศาลตาผาแดง” กล่าวคือ จากการขุดค้าทางโบราณคดีบริเวณศาลตาผาแดง ชั้นดินระยะการใช้งานปราสาทพบกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ ตลอดจนแวดินเผาและเครื่องถ้วยจากจีนและทางภาคเหนือ[25] ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งานศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง (อาจเกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้สังเวยบูชาผี ?) ดังนั้นหลักฐานทางศิลปกรรมขอม ที่เป็นศาสนสถานในมิติหนึ่งจึงทำให้เห็นถึงพลวัตทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นหรือเป็นภาพสะท้อนของการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างสุโขทัยและขอม ที่บ่งบอกว่าอย่างน้อยสังคมและวัฒนธรรมสุโขทัยย่อมรับรู้ความเชื่อทั้งศาสนาพุทธ พราหมณ์และผีอยู่ร่วมกัน
          นอกจากนี้หากพิจารณาจากงานศิลปกรรมขอม ในด้านความต่อเนื่องของการใช้งานโดยเฉพาะศาสนาสถานจะพบว่า มีลักษณะที่ถูกใช้หรือแปรสภาพอย่างต่อเนื่องไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปเสียทั้งหมด กล่าวคือ ที่เมืองสุโขทัยศาสนสถานบางแห่งได้ดำรงอยู่ควบคู่กับรัฐสุโขทัยจนถึงคราวสิ้นอำนาจ เช่น ศาลตาผาแดง ขณะที่บางแห่ง ก็ได้กลายสภาพไปตามระบบความเชื่อในสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการสร้างต่อเติมขึ้นทั้งสองวัด ขณะที่ศรีสัชชนาลัยก็มีศาสนสถานที่ถูกแปรสภาพตามระบบความเชื่อของคนในสังคมเช่นเดียวกัน อาทิ วัดเจ้าจันทร์ วัดชมชื่น และวัดมหาธาตุเชลียง ดังนั้นแม้ว่าภายหลังสุโขทัยจะเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท (หินยาน) ก็ตามแต่บทบาทของพราหมณ์ในสังคม - ราชสำนักก็ยังคงมีอยู่ (จากข้อความในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร) ซึ่งก็เป็นผลมาจากวัฒนธรรมเขมรที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในท้องถิ่น
          ส่วนในมิติภาพสะท้อนด้านสังคมและวัฒนธรรมจากงานอิทธิพลขอม งานชิ้นนี้ในเบื้องต้นวิเคราะห์สภาพสังคมและวัฒนธรรมไว้ 2 ประการ[26] กล่าวคือ ประการแรก เมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้าโดยตรง เนื่องด้วยอิทธิพลขอมที่ขยายเข้ามาในพื้นที่นั้นมุ่งด้วยจะแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเป็นหลัก ขณะเดียวกันการค้าพบเครื่องถ้วยเขมร เครื่องเคลือบสีน้ำตาล เช่น ที่แหล่งขุดค้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและหลุมขุดค้นวัดชมชื่น เมืองศรีสัชชนาลัย ส่วนเมืองสุโขทัยก็มีการขุดค้นพบเครื่องถ้วยเขมรเครื่องเคลือบน้ำตาล กำหนดอายุๆได้ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ก็สะท้อนให้เห็นถึงหลักฐานในการติดต่อทางการค้าระหว่างสุโขทัยกับเขมร ประการที่สองจากรูปแบบผังเมืองที่รับอิทธิพลเขมร สะท้อนให้เห็นว่าเมืองสุโขทัยนี้นัยแง่หนึ่งก็มีความจำเป็นในการกักเก็บน้ำหรือในอีกด้านหนึ่งวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีการกล่าวถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 เรื่องความอุดมสมบูรณ์ (เช่น ในน้ำมีปลาในนามีข้าว... ป่ามะม่วง ป่าหมาก ป่าพลู เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมสุโขทัยเป็น “สังคมเกษตรกรรม” ขณะเดียวกันแนวคิดแบบขอมในการทำผังเมืองผสมกับแนวคิดท้องถิ่นในการทำคันกั้นน้ำเพื่อควบคุมการไหลของน้ำหรือกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าบริเวณที่มีคันดินล้อมรอบนี้อาจเป็นพื้นที่ปลูกข้าวภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ เรียกว่า “เขตนาหลวง”[27]
ประการที่สาม : ด้าน“การเมือง - ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ”
      หลักฐานทางศิลปกรรมขอมที่ปรากฏในบริเวณพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชชนาลัย สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างขอมกับกลุ่มคนในสุโขทัยได้อย่างชัดเจน กล่าวถึงกลุ่มขอมที่เข้ามามีบทบาทและอำนาจในพื้นที่นี้คือกลุ่มบุคคลที่มีวัฒนธรรมขอม เรียกว่า ขอมสบาดโขลญลำโพง ปรากฎในจารึกหลักที่ 2 จารึกวัดศรีชุม ความหมายคือ ขอมสบาด หมายถึง เขมรดง ขณะที่โขลญลำพง หมายถึง คำสำหรับเรียกคนทำงานประจำเทวสถานหรือวัดว่าอาราม สำหรับบริบทนี้ ขอมสบาดโขลญลำพง น่าจะหมายถึง หมายถึงหัวหน้ากลุ่มของพวกเขมรป่าดงที่มีคนอุทิศกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ตามศาสนาสถาน หรือ อีกความหมายหนึ่งอาจหมายถึงพ่อค้าในสังกัดของรัฐขอมที่คอยเก็บส่วยในที่ห่างไกลจากเมืองหลวง[28] อันเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น[29] โดย รูปแบบหนึ่งของการปกครองพื้นที่ห่างไกลของขอมคือ การแต่งตั้งตัวแทนไปปกครองตามท้องถิ่น คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้กษัตริย์ขอมในจารึกขอมมีการกล่าวถึง พ่อค้าที่เป็นตัวแทนของรัฐขอมในท้องถิ่นว่า “โขลญ จังวาล” และพ่อค้าขอมที่สัญจรไปยังพื้นที่ต่างๆ ว่า “โขลญ จังวาล วานิก”คอยเก็บเงิน, ทรัพยากรและของมีค่าต่างๆกลับไปที่เมืองหลวง ดังนั้นจึงเกิดการตั้งสถานีการค้าตามแหล่งชุมชนต่างๆในเส้นทางการค้า โดยมุ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ[30] ขณะเดียวกันขอมสบาดโขลญลำพงอาจจะหมายถึงลพบุรีหรือลวปุระซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจของขอมในตอนนั้นด้วยเช่นกัน โดยหากอิงจากหลักฐานในจดหมายเหตุพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์สุ้ง พ.ศ. 1503-1670 จะพบว่ามีการกำหนดชื่อรัฐละโว้ซึ่งนับถือพุทธมหายานว่า “หลอหู” และกำหนดชื่อดินแดนตอนบนลุ่มน้ำยม-น่านไว้ว่า “เฉิงเหลียง” ซึ่งอาจหมายถึง เมืองเชลียง ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ อาทิ สุจิตต์ วงศ์เทศ ได้เสนอว่า สาเหตุหนึ่งที่กลุ่มขอมสบาดฯเข้ามายึดครองในพื้นที่นั้นอาจเป็นผลมาจากการสร้างวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัยและหันไปให้ความสำคัญกับคติพุทธศาสนาเถรวาท แทนการสร้างเทวลัยฝ่ายฮินดูหรือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจึงเป็นเหตุให้ขอมสบาดโขลญลำพงยกกองทัพเข้าตีเมืองสุโขทัย[31] แต่ถึงกระนั้นก็ตามภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ระหว่างขอมกับสุโขทัยนั้น อาจกล่าวได้ว่าในระยะแรกคือกลุ่มคนในวัฒนธรรมขอมมีอำนาจปกครองพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชชนาลัย ระยะต่อมาคือความขัดแย้งและการปลดแอกตนเองของรัฐสุโขทัยออกอำนาจทางการเมืองของขอมแต่ไม่ได้ปฏิเสธวัฒนธรรมขอมเสียทั้งหมด

บทวิเคราะห์
          จากภาพสะท้อนของงานศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรที่ได้กล่าวมาในข้างต้นสามารถวิเคราะห์ให้เห็นถึงอิทธิพลเขมรในสุโขทัยได้ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (cultural diffusion) จากศูนย์กลางทางวัฒนธรรมนั้นมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก กล่าวคือ หากพิจารณาจากศาสนสถานที่สร้างตามระเบียบแบบขอม เช่น ปราสาทเขาปู่จ่าและโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ ซึ่งบ่งบอกถึงความเข้มข้นของวัฒนธรรมเขมรที่แพร่กระจายมาโดยตรงในพื้นที่สุโขทัย หรือ อีกแง่หนึ่งสุโขทัยคงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับวัฒนธรรมเขมรโดยตรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มวัฒนธรรมเขมรภายใต้นโยบายการขยายเส้นทางการค้า ประการที่สอง การเกิดขึ้นวัฒนธรรมรัฐสุโขทัยนั้นมีรากฐานหนึ่งที่สำคัญคือ วัฒนธรรมเขมร แม้ว่าต่อมาทางสุโขทัยจะหลุดจากอำนาจทางการเมืองของขอมแล้วก็ตาม หากแต่ก็มิได้ปฏิเสธวัฒนธรรมเขมรที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังได้นำมาผสมผสานปรับใช้ให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของตน เช่น ในเงื่อนไขบริบททางสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดระบบการจัดการน้ำโดยมีรูปแบบของอิทธิพลขอมผสมกับท้องถิ่น เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้นำในท้องถิ่น (รัฐสุโขทัย) ยังได้มีการเลือกรับวัฒนธรรมที่มีอยู่แต่เดิมในการนำมาปรับให้เข้ากับการดำรงอยู่ของตน เช่น การยอมรับศาสนาพราหมณ์ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงที่กลุ่มขอมมีอำนาจ เห็นได้ชัดจากรัชสมัยของพระยาลิไทเป็นต้น อย่างไรก็ตามก็มีการปฏิเสธบางความเชื่อที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลบวกแก่รัฐ เช่น ความเชื่อพุทธศาสนา นิกายมหายาน หากแต่หันไปรับพุทธศาสนา นิกายเถรวาทจากลังกาแทน

บทสรุป
          จากการนำเสนอในข้างต้นทั้งหมดได้ทำให้เห็นว่า งานศิลปกรรมขอมที่ปรากฎในพื้นที่นั้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางการเมืองของขอมที่เข้ามาปกครองในพื้นที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ขณะเดียวกันการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมขอมดังกล่าวสำหรับคนในท้องถิ่นนั้นก็ไม่ได้กลายเป็น “ขอม” ไปเสียทั้งหมดหากแต่ได้มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมหรือมีการแลกรับปรับใช้ระหว่างวัฒนธรรมจนท้ายสุดวัฒนธรรมเขมรได้กลายเป็นรากฐานหนึ่งของวัฒนธรรมรัฐสุโขทัยในเวลาต่อมา

อ้างอิง
หนังสือ:
กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548.
ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์สุโขทัย : พลังคน อำนาจผี บารมีพระ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2544.
__________  เมืองศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2537.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน 2557.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณ จารึกและศิลปกรรม.กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโขทัย มาจากไหน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.


สารนิพนธ์และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง:
วิราวรรณ สมพงษ์เจริญ. คติความเชื่อของคนไทยสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1726 – พ.ศ. 2006. งานค้นคว้าอิสระส่วนหนึ่งตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2550

บทความ:
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. “สุโขทัยกับอาเซียน มองประวัติศาสตร์สุโขทัยสองแนว” ใน สุโขทัย กับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. ขุดรอยเขมรที่ปราสาทตาผาแดง เมืองสุโขทัย การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่”. ใน สุโขทัย กับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, หน้า 127.
รุ่งโรจน์ ภิรมย์นุกูล. “ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ใน หนังสือเสวนาเรื่อง “ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท” จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 8.00-16.30 น.ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.
สันติ เล็กสุขุม. “”เจดีย์บริวารประจำทิศทั้งแปดและพระศรีมหาธาตุ วัดพระศรีมหาธาตุ สุโขทัย”, เมืองโบราณ, 27, 3, (กรกฎาคม – กันยายน 2544): 44-58.







[1] รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน 2557, หน้า 12.
[2]สำหรับเมืองลพบุรี หรือ ลวปุระ นั้นดูเสมือนว่าจะเป็นเมืองที่ทางราชสำนักเขมรให้ความสำคัญ อาจเนื่องด้วยเป็นเมืองที่เป็นฐานอำนาจของเขมรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กล่าวคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ส่งพระโอรสของพระองค์มาปกครอง ทรงนามว่า อินทรวรรมัน อีกนัยหนึ่งนอกเหนือจากการสะท้อนอำนาจทางการปกครองของกษัตริย์เขมรแล้ว ยังอาจหมายถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเมืองละโว้
[3] รุ่งโรจน์ ภิรมย์นุกูล. ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ใน หนังสือเสวนาเรื่อง ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไทจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 8.00-16.30 น.ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, หน้า 68.
[4] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณ จารึกและศิลปกรรม.กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547, หน้า 13.
[5] อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับศิลปกรรมเขมรในช่วงศิลปะเขมรแบบบาปวนนั้นยังคงมีไม่มากพอที่จะยืนยันหรือสามารถกำหนดช่วงเวลาการเข้ามาของกลุ่มขอมในพื้นที่สุโขทัย
[6] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณ จารึกและศิลปกรรม.กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547, หน้า 14-15.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 45.
[8] สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555, หน้า 44.
[9] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณ จารึกและศิลปกรรม.กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547, หน้า 14-15.
[10]หากแต่ในระยะเวลาต่อมาได้แปรสภาพเป็นพุทธศาสนสถาน ด้วยการสร้างวิหารด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูป โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเปลี่ยนสภาพในสมัยพ่อขุนรามคำแหงที่มีการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือหินยาน หรือ อีกประการหนึ่งในช่วงก่อนการเกิดขึ้นของสุโขทัยศาสนสถานหลังนี้อาจสร้างค้างไว้ถึงส่วนของเรือนธาตุ และภายหลังจากการเกิดขึ้นของสุโขทัยได้สร้างส่วนยอดต่อขึ้นไป เนื่องจากรูปแบบส่วนยอดนั้นมีลักษณะที่คลี่คลายไปจากชั้นส่วนบนของศิลปะแบบเขมรไปมาก รวมทั้งคลี่คลายมากกว่าเจดีย์ประจำทิศที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย ด้วยเช่นกัน ขณะที่รูปนางอัปสรา ครุฑยุดนาคและนาคโคนกรอบซุ้มที่มุมบนของเรือนธาตุก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลขอมอยู่บ้าง
[11] พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. สุโขทัยกับอาเซียน มองประวัติศาสตร์สุโขทัยสองแนวใน สุโขทัย กับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, หน้า 24.
[12] เรื่องเดียวกัน , หน้า 26.
[13] สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555, หน้า 54.
[14] สันติ เล็กสุขุม. “”เจดีย์บริวารประจำทิศทั้งแปดและพระศรีมหาธาตุ วัดพระศรีมหาธาตุ สุโขทัย”, เมืองโบราณ, 27, 3, (กรกฎาคม – กันยายน 2544):, หน้า 48.
[15] ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณ จารึกและศิลปกรรม.กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547, หน้า 99.
[16] สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะสุโขทัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555, หน้า 48.
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 43.
[18] ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552 หน้า 63 – 67.
[19]ในสังคมดั้งเดิมล้วนแล้วแต่มีระบบความเชื่อที่มีการนับถือ สิ่ง/อำนาจเหนือธรรมชาติ (super natural) หรือที่เรียกว่า “ผี” (animism) โดยเป็นการนับถือผีที่อยู่ตามธรรมชาติรอบๆตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบททางสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น ผีป่า ผีถ้ำ ผีแม่น้ำ ผีภูเขา และยังรวมไปถึงผีบรรพบุรุษ ผีปู่ ผีตายาย ผีปู่ตา ฯลฯ  ดังนั้นในประเด็นเรื่องความเชื่อของคนสุโขทัย ธิดา สาระยา ได้สะท้อนให้เห็นว่าการรับศาสนาเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความเชื่ออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะลำดับชั้นของผีในความเชื่อของคนในท้องถิ่นและก่อให้เกิดการจัดแบ่งประเภทและการแยกออกจากกันทางพื้นที่ (โลก สวรรค์ นรก) ระหว่างผีกับมนุษย์ด้วยเช่นกัน
[20] ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์สุโขทัย : พลังคน อำนาจผี บารมีพระ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2544, หน้า 22
[21] กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548, หน้า 165.
[22]จารึกหลักที่ 64 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 4-7 ข้อความต้นฉบับ “...ผิปํเสจจาคำ (ชิไสพาคม) อนัพนไปจงญาใหรูจกัชิฝูงพระพุ สาสนาทงัไสพาคมกํญาใหรูจกัสาสตรตดัคแล... ”
[23] วิราวรรณ สมพงษ์เจริญ. คติความเชื่อของคนไทยสมัยสุโขทัย พ.ศ. 1726 – พ.ศ. 2006. งานค้นคว้าอิสระส่วนหนึ่งตามหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2550, หน้า 96.
[24] กรมศิลปากร. ประชุมจารึกภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2548, หน้า 290.
[25] ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์. “ขุดรอยเขมรที่ปราสาทตาผาแดง เมืองสุโขทัย การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การใช้พื้นที่”. ใน สุโขทัย กับอาเซียน : มองปัจจุบันผ่านอดีตจากมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี. ปทุมธานี: คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, หน้า 127.
[26]อย่างไรก็ตามผู้ศึกษาเชื่อว่ายังมีอีกหลายกรณีตัวอย่างจากงานศิลปกรรมตลอดจนหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับอิทธิพลเขมรในการตีความวิเคราะห์สภาพสังคมและวัฒนธรรมของสุโขทัยและศรีสัชชนาลัย
[27] ศรีศักร วัลลิโภดม. เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552 หน้า74.
[28] ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์สุโขทัย : พลังคน อำนาจผี บารมีพระ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2544, หน้า 16.
[29] ดูในหัวข้อ : อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในประเทศไทยก่อนการเกิดรัฐสุโขทัย
[30] ธิดา สาระยา. เมืองศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2537, หน้า 61- 67.
[31] สุจิตต์ วงษ์เทศ. กรุงสุโขทัย มาจากไหน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548, หน้า 82.