ระบบความสัมพันธ์ระหว่าง
“จีนกับรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
กรณีศึกษา
:
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐมะละกา
บทนำ
รัฐมะละกาเป็นรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย
บนแหลมมลายู (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) ถูกสถาปนาเป็นรัฐโดยพระเจ้าปรเมศวร (สันนิษฐานว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ไศเลนทร์ที่หนีจากภัยการเมือง
ที่เกิดจากการแย่งชิงราชสมบัติของรัฐมัชปาหิต)
ซึ่งมะละกานั้นเป็นรัฐที่มีสถานภาพรัฐพาณิชย์นาวี กล่าวคือ มีลักษณะเป็นเมืองท่า
มีฐานะเป็นพ่อค้าคนกลางไม่ต่างจากศรีวิชัย โดยมีนโยบายการเก็บภาษีจากพ่อค้าที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับรัฐ
ประกอบกับตำแหน่งของรัฐนั้นอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเล
ดังนั้นจึงทำให้รัฐมะละกานั้นมีรายได้จากการค้าขายและการเก็บภาษี
รวมทั้งมีสินค้าที่หลากหลาย และกลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อรัฐที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามรัฐมะละกานั้นแม้ว่าจะมีความมั่งคั่งและอำนาจมากในภูมิภาคนี้แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ระบบ
“รัฐบรรณาการ” ภายใต้อำนาจของจีนเหมือนกับรัฐอื่นๆในภูมิภาคที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
และในขณะเดียวกันก็ยังถูกรุกรานโดยเฉพาะจากรัฐสยาม และมีคู่แข่งทางการค้ากับรัฐอื่นๆ
เช่น อาเจะห์ สมุทรปา-ไซ เป็นต้น
นิยามของ
“ระบบบรรณาการ” ระหว่างรัฐในเอเชียตวันออกเฉียงใต้กับจีน
จีนเป็นชาติที่มีความยิ่งใหญ่ทั้งในด้านขนาดของประเทศ
ประชากร และกำลังทางการเมืองและด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้จีนมีโลกทัศน์เห็นตนเองเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่
ราวกับเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” (Middle Kingdom) และมองว่าชาติอื่นๆโดยรอบล้วนแล้วแต่เป็นอนารยชนที่มีความต่ำต้อย
ซึ่งจีนได้ใช้วัฒนธรรมของตนเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบฐานะอำนาจและระดับของวัฒนธรรมของธรรมชาติโดยรอบ
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกภายนอกหรือชาติอื่นๆนั้นจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเสมอภาค
หากแต่เป็นความเหลื่อมล้ำสูง-ต่ำอย่างชัดเจน
ในด้านการปฏิบัติต่อโลกภายนอกหรือชาติอื่นๆของจีนนั้น
จีนถือว่าตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล, เป็นศูนย์กลางของมนุษย์ชาติโดยมีองค์จักรพรรดิเป็นเทวราชบุตรแห่งสวรรค์
(Son
of Heaven) ผู้ได้รับบัญชามาจากสวรรค์เบื้องบน (Mandate of
Heaven) ให้มาทำการปกครองมนุษย์ชาติโดยตรงทัศนคติดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของ
ขงจื้อ ซึ่งมองว่าทุกสังคมย่อมจะมีความเสมอภาคกันไม่ได้ ต้องมีความสูง-ต่ำเป็นระดับโดยอาวุโสไปตามคุณวุฒิและวัยวุฒิ
(Hierarchic basis of society)
จึงเห็นได้ว่าในการปกครองมนุษย์ชาติของจีนนั้น
ได้นำเอาชาติต่างๆโดยรอบดินแดนของจีนและบริเวณใกล้เคียงเข้ามาในระบบจักรวาลเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลซึ่งล้อมรอบไปด้วยชาติต่างๆ
และจักรวาลที่มีผู้ปกครองโดยจีนเป็นผู้นำนั้น
ก็เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกญาติพี่น้องซึ่งก็คือชาติต่างๆภายใต้การปกครองขององค์จักรพรรดิที่ทำหน้าเสมือนเป็นบิดาปกครองบุตรด้วยความเมตตาและด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ชาติต่างๆจึงพึ่งพาอาศัยขอความคุ้มครองจากจีน
ในขณะเดียวกันก็แสดงความเคารพเชื่อฟังอยู่ในโอวาทจีน
มีความจงรักภักดีต่อผู้นำคือจีน
ดังนั้นชาติต่างๆจึงต้องยอมที่จะอ่อนน้อมถ่อมตนต่อองค์จักรพรรดิด้วยการแสดงออกที่เป็นไปในลักษณะพิธีการต่างๆ
เป็นกิจลักษณะที่ทุกชาติต้องถวายความจงรักภักดีด้วยการประกอบพิธีเข้าเฝ้าด้วยการคุกเข่าสามครั้งโขกพื้นเก้าครั้ง
ในการถวาย “เครื่องราชบรรณาการ”
จึงถือว่าเป็นการยอมรับความยิ่งใหญ่ของจีนว่าเหนือกว่า
ชาติใดก็ตามที่จะมีความสัมพันธ์กับจีน
โดยการยอมรับอำนาจของจีนว่าสูงส่งกว่า หรือต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากจีน เช่น
ต้องการให้จีนรับรองฐานะทางการเมืองหรือรัฐของตน,
ต้องการผลประโยชน์ทางการค้าหรือต้องการผลประโยชน์แสวงหาอำนาจส่วนตนก็ตาม จีนก็มองว่าเป็นความสัมพันธ์ที่รัฐต่างๆเป็นฝ่ายเสนอไมตรีต่อจีน
ซึ่งมีความหมายในแง่ของการขออยู่ภายใต้อำนาจของจีน ดังนั้นจีนจึงตีความว่ารัฐเหล่านี้มีฐานะเป็นประเทศราชของจีน
ซึ่งต้องส่งบรรณาการให้จีน ดังนั้นประเทศราชเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็น “รัฐบรรณาการ”
(Tributary
States) ในขณะเดียวกันการที่จีนผลัดแผ่นดินแต่ละยุคสมัย
จีนจะส่งทูตไปแจ้งให้ชาติต่างๆส่งทูตและเครื่องบรรณาการมาถวายกษัตริย์จีน เป็นการกระทำที่เป็นผลต่อจีนโดยตรง
กล่าวคือ ประการแรก ระบบถวายเครื่องบรรณาการนี้เป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญที่จะรับรองฐานะของกษัตริย์จีนว่าเป็นที่ยอมรับแก่นานาชาติ
ประการที่สอง ระบบดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ประจักษ์พยานว่า
จีนยังมีอำนาจและอิทธิพลทางวัฒนธรรมเหนือกว่าชาติที่ส่งทูตมา
(บางครั้งจีนก็อ้างว่า
การกระทำของชาติเหล่านั้นเป็นการยอมรับว่าจีนมีอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่า
เห็นได้จากจักพรรดิของจีนรับรองฐานะกษัตริย์หรือผู้นำของประเทศราชเหล่านั้น)
จึงเห็นได้ว่าระบบนี้เป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญมากสำหรับจีน
จีนได้กำหนดพิธีการส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นพิธีการทูตที่สำคัญที่สุดเป็นลักษณะเด่นของ
“ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ”
พิธีนั้นถือเป็นสัญลักษณ์แสดงความยอมรับว่าจีนเหนือกว่าความสัมพันธ์ที่ขึ้นอยู่กับการส่งเครื่องราชบรรณาการ
(Tributary
Relations) ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็ยังมีคุณประโยชน์ต่อจีนในด้านเป็นการป้องกันตนเองมากกว่าการแผ่อิทธิพลเป็นการแสดงความยิ่งใหญ่และอารยธรรมสูงส่งของจีน
มากกว่าจะบีบบังคับให้ชาติต่างๆตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน
ระบบส่งเครื่องราชบรรณาการจึงมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างจักรวรรติอย่างแท้จริง[1]
การเป็นรัฐบรรณาการของจีนนั้น
นอกจากจะได้รับการตอบแทนจากจีนในแง่ของการได้รับพระราชทางสิ่งของจากจักรพรรดิจีนซึ่งเป็นของมีค่า
และหายากแล้วนั้น
จีนยังปกป้องรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐบรรณาการจากปัญหาความขัดแย้งด้วยเช่นกัน
เห็นได้จากความพยายามของจีนที่จะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐมะละกากับอยุธยา
นอกจากนี้ยังได้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีน กล่าวคือ
เรือที่เดินทางไปค้าขายพร้อมคณะทูตจะค้าขายกับจีนได้โดยได้รับการ
“ยกเว้นภาษี”และยังได้รับอำนวยความสะดวกจากจีน ดังนั้นในแง่หนึ่งระบบความสัมพันธ์กับจีนนั้น
สำหรับผู้ปกครองของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นเสมือนช่องทางในการหาผลประโยชน์จากจีนทั้งในด้านการค้า
หรือแม้กระทั่งสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตนด้วยการให้จีนรับรองความเป็นผู้นำ
ระบบบรรณาการจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่ายแม้ว่าจะมีเป้าหมายและมุมมองที่ต่างกัน
(ฝ่ายจีนต้องการให้รัฐอื่นๆในภูมิภาคยอมอยู่ภายใต้อำนาจ,
ขณะที่ฝ่ายรัฐบรรณาการต้องการผลประโยชน์ทางการค้าและอำนาจทางการเมือง)
ซึ่งเป็นระบบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การให้และการรับ”
ระหว่างกันไม่มีฝ่ายใดเสียผลประโยชน์หรือได้ผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว
(ต่างจากระบบอาณานิคมของชาติตะวันตกที่มีลักษณะฝ่ายหนึงเสียประโยชน์ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์)
เพราะฉะนั้นระบบบรรณาการของจีนจึงดำรงอยู่ได้นับพันปี
ในช่วงที่เส้นทางการค้าทางบกหรือเส้นทางสายไหมนั้นมีปัญหาจีนได้หันมาใช้เส้นทางการค้าทางทะเล
(ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นก็ได้เริ่มมีการติดต่อค้าขายกันทางทะเลแล้ว ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่
2
ก่อนคริสต์กาล เห็นได้จากบันทึกของชาวจีน เช่น
ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่นได้กล่าวถึง
เส้นทางเดินเรือเลียบตามชายฝั่งคาบสมุทรมลายู) โดยเฉพาะในช่วงสมัยราชวงศ์หมิง
ได้ถือเอาระบบบรรณาการเป็นการจัดระเบียบการติดต่อกับต่างประเทศให้เป็นแบบแผน
ตามคติความเชื่อของชาวจีนว่าวัฒนธรรมตนเองนั้นสูงส่งกว่าและชาติอื่นๆนั้นล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ด้วยดีกับรัฐอื่นๆจึงส่งบรรณาการมาให้จีน
ซึ่งจีนก็ตอบแทนบรรณาการเหล่านั้นอย่างคุ้มค่า
อันเป็นผลพลอยได้ที่จีนจะมีโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าของตนให้เป็นที่รู้จัก
โดยการส่งตอบแทนให้แก่รัฐเหล่านั้นด้วย ในสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองการค้าทางทะเล
ปรากฎหลักฐานว่ามีรัฐบรรณาการของจีนรวมทั้งสิ้น 38 รัฐเช่น รัฐจัมปา,
รัฐขอม, รัฐชวา, ปาเล็มบัง, รัฐอันนัม และรัฐอื่นๆรวมทั้ง “รัฐมะละกา”
การค้าขายระหว่างรัฐมะละกากับจีน
มะละกาเป็นรัฐพาณิชย์นาวีที่เกิดขึ้นเมื่อปี
ค.ศ. 1402 โดยสาเหตุที่รัฐมะละกากลายมาเป็นรัฐการค้าขึ้นมาได้นั้นก็เป็นเพราะปัจจัยหลายประการ
กล่าวคือ ประการแรก อำนาจทางการค้าของศรีวิชัยในขณะนั้นได้สิ้นสุดลงประกอบกับอำนาจของรัฐมัชปาหิตอยู่ในช่วงนั้นกำลังสั่นคลอนและมีปัญหาทางการเมือง
ประการที่สอง เนื่องจากระบบการค้าโลกกำลังขยายตัวทั้งยุโรป อาหรับ เปอร์เซีย
อินเดีย จีน ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโลกโดยมี
“มะละกา” เป็นเมืองท่าที่สำคัญ ประการที่สามสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งของรัฐมะละกานั้นอยู่ในเส้นทางการค้าระหว่างภูมิภาคระหว่างทางฝั่งตะวันตก
( อินเดีย, อาหรับ, ยุโรป)
และทางฝั่งตะวันออก (จีน) ดังนั้นระบบการค้าของมะละกาจึงเป็นระบบที่เรียกว่า Triangular
System หรือ ระบบการค้าแบบสามเหลี่ยม กล่าวคือมีการค้าทางตะวันออกกับจีนและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกกับทางตะวันตกแถบกุจีราท[2]
การค้าแบบ Triangular ในมะละกาดำเนินไปได้ด้วยดีเนื่องจากรัฐมะละกาสามารถควบคุมช่องแคบมะละกาไว้ได้
โดยเฉพาะเมืองมะละกาถือได้ว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่พ่อค้าจากทางตะวันออกและตะวันตกจะมาพักจอดเรือ
รวมทั้งเรือที่มาถึงมะละกาจะต้องอาศัยกำลังลมเพราะเป็นเรือใบ
มะละกาจึงเป็นสถานที่ที่เดินทางไปมาได้สะดวก กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม –
ตุลาคม เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะทำให้เรือของพวกพ่อค้าจากทะเลแดง อินเดีย
กุจีราท เดินทางมายังมะละกาได้สะดวก ระยะเดือน พฤศจิกายน – เมษายน ฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงมา
เรือจีนจะเดินทางมาค้าขายได้สะดวกและพ่อค้าจากกุจิราท อาหรับ อินเดีย
เมื่อซื้อสินค้าแล้วก็เดินทางกลับได้สะดวกเช่นกัน
นอกจากนี้มะละกายังเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า
โดยเฉพาะสินค้าจากบรรดาหมู่เกาะเครื่องเทศต่างๆ เช่น บอร์เนียว หมู่เกาะโมลุกะ
ซึ่งสินค้าเครื่องเทศเป็นสินค้าที่ชาวยุโรปต้องการพอๆกับสินค้าจากทางจีนและอินเดีย
กลุ่มคนที่ซื้อของจากมะละกาไปขายให้แก่ยุโรป คือ พวกอาหรับ กุจิราท
และพวกแถบทะเลแดง ในขณะที่พ่อค้าคนกลางของยุโรปในช่วงเวลานั้นคือ เวนิส”
ดังนั้นสินค้าต่างๆเมื่อมาถึงยุโรปจึงมีราคาแพงขึ้น
ในทางกลับกันก็มีสินค้ายุโรปที่ชาวเอเชียต้องการเหมือนกันได้แก่ เครื่องเหล็ก
เครื่องแก้ว ผ้าขนสัตว์ เครื่องประดับเป็นต้น โดยซื้อจากพ่อค้าชาวเปอร์เซียอีกทอดหนึ่ง
จากที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่ามะละกาในช่วง ค.ศ. 1400 – 1500
จึงเป็นระบบการค้าแบบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม
การค้าระหว่างมะละกับจีนนั้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างหลากหลาย
ซึ่งจีนมีสินค้าหลายอย่างที่เป็นที่ต้องการในตลาดการค้าของมะละกา
เรือสินค้าจีนเป็นแบบเรือสำเภา (Junk)
บรรทุกสินค้าที่สำคัญๆ ได้แก่ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าต่วน ผ้าปักมีดอก ผ้าคาดเอว
เครื่องลายครามต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งยังบรรทุกคนโดยสารมาคราวละมากๆ
กลุ่มคนเหล่านี้เป็นนักแสวงโชค จะเข้ามาตั้งหลักแหล่งอาศัยในแถบเอเชียอาค์เนย์
ในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 200 – 300 คน
บางพวกมาอยู่ในมะละกาตั้งร้านค้าขายสินค้าขึ้น จึงทำให้ดินแดนมลายูมีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในขณะเดียวกันสินค้าที่ส่งไปจีนจากมะละกานั้นได้แก่
กำยาน, เครื่องหอม, ฝ้าย, สีย้อมผ้า (สีแดงจากเปลือกไม้)
สำหรับจีนนั้นได้รับความสะดวกพอควรในการเข้ามาค้า
โดยมะละกาเก็บค่าธรรมเนียมเรือจีนประมาณ 5% ในขณะที่ชาติอื่นๆเสียถึง
7% ทำให้จีนนิยมมาค้าที่มะละกามาก
แต่ถ้าจะเทียบกับการค้ากับไทยแล้ว จีนมาค้ากับไทยมากกว่า
ทั้งๆที่การเก็บค่าธรรมเนียมของไทยสูงกว่ามะละกาโดยในสมัยนั้นไทยเก็บอยู่ระหว่าง 20
– 22 % แต่ไทยเก็บจากจีนเพียง 1 – 6 % เท่านั้นดูเหมือนกับไทยให้อภิสิทธิ์จีน อาจเป็นเพราะเนื่องมาจากจีนกับไทยมีการค้ามาช้านานและจีนต้องการสินค้าจากไทยมากกว่า
โดยเฉพาะจีนต้องการ ข้าว ไม้ จากไทย และเมืองไทยเองก็มีเครื่องเทศอยู่ไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้จึงมีเรือจีนไปค้ากับมะละกาปีหนึ่งประมาณ 6 – 7 ลำและมาค้าขายกับไทยไม่ต่ำกว่าปีละ
6 – 7 ลำด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับรัฐมะละกาในสมัยนั้นผ่านระบบ
“ถวายราชบรรณาการ” ซึ่งเป็นลักษณะการค้าขายระหว่างประเทศในสมัยศักดินา มีลักษณะ 3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นในระดับชนชั้นผู้นำคือ กษัตริย์มะละกากับจักรพรรดิจีน
เมื่อฝ่ายหนึ่งถวายราชบรรณาการ อีกฝ่ายหนึงก็จะมอบสิ่งของตอบแทน กล่าวโดยสรุปคือ
ราชบรรณาการเป็นสิ่งของที่มอบให้แก่กันระหว่างสองฝ่าย
มิใช่มอบให้เพียงฝ่ายเดียวและสิ่งของที่จักรพรรดิพระราชทานให้นั้นมีจำนวนมากกว่า
เนื่องจากพระองค์ถือว่า “จะต้องให้มากกว่ารับ” (สอดคล้องกับ คติความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิจีน)
ประการที่สอง สิ่งของที่จะซื้อขายกันระหว่างราชสำนัก
จะมีการซื้อขายกันในราคาที่เป็นธรรมไม่มีฝ่ายไหนขาดทุนหรือเสียผลประโยชน์
ประการที่สาม
สิ่งของดังกล่าวสามารถนำไปขายในท้องตลาดได้ต่าต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด
การค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆจึงเป็นไปอย่างคึกคัก
พ่อค้ามักจะพึ่งพาคณะทูตร่วมเดินทางไปยังเมืองจีน การค้าขายจึงดำเนินไปอย่างสะดวก
โดยผ่านระบบถวายราชบรรณาการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นธรรมและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน[3]
ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์รัฐมะละกากับจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกมลายูนั้นได้มีมานานกว่า
1,500
ปี สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐมะละกานั้นปรากฎอย่างเป็นทางการในช่วงสมัยราชวงศ์หมิงกับรัฐมะละกา
เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1403 และสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1521
ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนั้นก็ถูกบันทึกในตำราของนักจดบันทึกชาวจีนไว้อย่างมากมาย
เช่น เอกสารประวัติศาสตร์หมิงชิ, เอกสารประวัติศาสตร์หมิงชิลู,
และเอกสารหมิงฮุยเดียน โดยภาพรวมนั้นจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำทั้งสองประเทศ
โดยกษัตริย์ของมะละกานั้นได้เยือนจีนอยู่หลายครั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์
ในขณะที่จีนนั้นจะส่งเสนาบดีหรือทูตไปเยือนรัฐมะละกาอยู่หลายครั้งเช่นกัน
และด้วยเหตุนี้ก็ทำให้มีคนจีนอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในรับมะละกาเป็นจำนวนไม่น้อย
เมื่อจักรพรรดิหมิงเชงซู
(Ming Cheng Zhu) ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1403 – 1424
สถานการณ์ภายในประเทศมีความสงบเรียบร้อย
ราชสำนักมีสเถียรภาพและความมั่นคง
จักรพรรดิหมิงเชงซูเริ่มให้ความสนใจในเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ได้พิจารณาทบทวนนโยบายความสัมพันธ์กับต่างประเทศและได้รื้อฟื้นสำนักงานการท่าเรือ Shi
Po Si ขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1405 และยังได้สร้างเรือนรับรองเพิ่มขึ้นอีก
3 แห่ง ได้แก่ เรือนรับรอง ห้วยหยวน ที่กวางดง, เรือนรับรอง
ไล หยวน ที่ฟูเจี้ยน, และเรือนรับรอง อันหยวน ที่ซีเจียง
เพื่อเป็นการต้อนรับพ่อค้าจากต่างประเทศและเปิดโอกาสให้มีการเข้าเฝ้าถวายราชบรรณาการจากการทูตต่างประเทศตามปกติ
นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ส่งทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศต่างๆ ที่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาก่อน
เหตุผลสำคัญที่ทำให้จักรพรรดิหมิงเชงซูรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับต่างประเทศมี 2
ประการ คือ
ประการแรก เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆ
และเป็นการขยายอำนาจบารมีไปทุกหนแห่งให้ประเทศต่างๆ
ยอมรับอำนาจของราชวงศ์หมิงว่าเป็นราชสำนักที่มีอำนาจเหนือกว่า
ให้เตรียมถวายราชบรรณาการ ด้วยเหตุนี้ทำให้ราชวงศ์หมิงเป็นศูนย์กลางของอำนาจที่แวดล้อมด้วยประเทศบริวารมากมาย
สามารถดำรงอยู่ได้อย่างสงบสันติ
ประการที่สองเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศผ่านระบบถวายราชบรรณาการ
เพราะเมื่อมีการถวายราชบรรณาการจะมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ
สามารถทำการค้าขายได้ และเมื่อสามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายมีความเจริญก้าวหน้า
มั่งคั่ง สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ทำให้จักรพรรดิหมิงเชงซู มีบัญชาให้ “เจิ้งเหอ”
(หม่าเหอ จีนมุสลิม)[4]
เป็นผู้นำกองเรือไปเยือนประเทศต่างๆและแม้ว่ากองเรือนั้นจะมีอาวุธและทหารแต่ไม่เคยบุกรุก
รุกราน ปล้นสะดมหรือเข้ายึดครองประเทศใด นอกจากการผูกสัมพันธ์ไมตรี
มีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้า เพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
แม่ทัพเจิ้งเหอได้นำกองเรือไปเยือนประเทศต่างๆในย่านทะเลใต้
(ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก) จำนวน 7 ครั้ง และในปี ค.ศ. 1408 เจิ้งเหอได้รับบัญชาจากจักรพรรดิหมิงเชงซู
ให้นำกองเรือไปเยือนรับมะละกา ต่อมาในปี ค.ศ. 1409 กษัตริย์มะละกาได้ส่งทูตเดินทางไปเมืองจีน
เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ
จักรพรรดิมีรับสั่งให้เสนาบดีฝ่ายกิจการต่างประเทส
มอบเงินพระราชทานไปให้กษัตริย์มะละกา
นับตั้งแต่นั้นมาทั้งสองฝ่ายได้มีการส่งทูตไปมาอย่างต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น
จากที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศราชวงศ์หมิงกับรัฐมะละกา
มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นตลอด 1 ทสวรรษตั้งแต่ปี ค.ศ. 1403
จนถึงปี ค.ศ. 1521 และไม่เคยมีความขัดแย้งระหว่างกัน
ตามสถิติที่มีการบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงฉบับราชสำนัก
มีกษัตริย์มะละกาเสด็จเยือนเมืองจีนรวม 3 พระองค์
มีพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับบัญชาให้ไปเยือนเมืองจีนจำนวน 5 คน
และราชทูตที่ส่งไปเมืองจีนไม่น้อยกว่า 24 ครั้ง
ในส่วนของประเทศจีน
ราชวงศ์หมิงได้มีบัญชาให้เสนาบดีและขุนนางระดับสูงเดินทางไปเยือนมะละกาจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีบัญชาให้แม่ทัพเรือ เจิ้งเหอเป็นผู้นำกองเรือไปเยือนรัฐมะละกาเป็นจำนวน
7 ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1405 จนถึงปี
ค.ศ. 1433 แม่ทัพเจิ้งเหอจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์หมิงกับรัฐมะละกา[5]
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการชาวจีนหลายคนที่ได้เดินทางไปกับแม่ทัพเรือเจิ้งเหอได้เขียนหนังสือสะท้อนให้เห็นสภาพสังคม
ความเป็นอยู่วิถีชีวิตของคนมลายูในสมัยนั้น เช่น “หม่าฮวน” ได้เขียนหนังสือชื่อ Ying
Ya Shen Lan (แปลว่า ความสวยงามอีกฟากฝั่งมหาสมุทร) ได้กล่าวถึงผู้คน
สังคม วัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้การปกครองของ Megat Iskandar Shah ซึ่งมีเนื้อหาโดยรวมว่า “สภาพพื้นดินของรัฐมะละกานั้นไม่ค่อยดี
จึงไม่ค่อยมีการทำการเกษตร กษัตริย์และประชาชนนับถืออิสลาม เรียนคัมภีร์อัลกุรอาน
ปฏิบัติศาสนากิจตามคำสอนของศาสนาอิสลาม กษัตริย์คลุมศรีษะด้วยผ้าละเอียดสีขาวและสวมเสื้อคลุมยาวสีดำ
สวมรองเท้าหนัง ประชาชนถ้าเป็นผู้ชายนิยมโพกศรีษะ
ผู้หญิงเกล้าผมมวยและคลุมผมด้วยผ้าละเอียดสีขาว สวมใส่เสื้อผ้าหลากสีสัน
มีสีผิวดำแดง บ้านเรือนมีลักษณะเป็นเรือนไม้หลังคาจั่ว หลังคามุงจาบเย็บด้วยเชือกหวายเรียงซ้อนกันเป็นตับ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง
รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐมาจากผลิตผลตามธรรมชาติของป่าทุกชนิด เช่น กำยาน ยางสน ครั่ง
ไม้หอม ดีบุก และอื่นๆ มีภาษาพูด
ภาษาเขียนและพิธีการแต่งของชาวเมืองเหมือนกับชาวเกาะชวา
รัฐมะละกานั้นยังมีกำแพงเมืองล้อมรอบ มีป้อมปราการ มีทหารอยู่เวรยามในเวลากลางคืน
ภายในกำแพงจะมีกำแพงอยู่อีกหลายชั้น มีคลังสินค้าอยู่ทั่วไป
เรือต่างๆเดินทางมาจากต่างประเทศทอดสมอบริเวณท่าเรือ
รอการขนถ่ายสินค้าและบรรทุกสินค้า
รวมทั้งยังมีเรือจำนวนมากที่ยังรอลมมรสุมในการเดินทางต่อ”
นอกจากหนังสือที่เขียนโดย หม่าฮวนแล้ว
ยังมีหนังสือที่เขียนโดย เฟยซิน (Fei Xin),
ชางซิ (Zhang Xie) และหนังสือของจางซิ ชื่อ Dang Xi
Yang Kao (แปลว่า การศึกษาเกี่ยวกับทะเลตะวันออกและตะวันตก)
ซึ่งจากที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมะละกานั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่มาก
อยู่รวมปะปนกับชาวพื้นเมืองและสาเหตุที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรับมะละกามีมานานกว่าหนึ่งศตวรรษได้นั้นก็เหตุผล
3 ประการ
ประการแรก
ทั้งสองฝ่ายนั้นต่างมีเจตนารมณ์ความสัมพันธ์ที่ดี
มีความใกล้ชิดสนิทสนมจึงให้เกียรติยกย่องซึ่งกันและกัน
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่มีความสัมพันธ์กันนั้นก็ไม่ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ประการที่สอง
ทั้งสองฝ่ายทั้งสองฝ่ายนั้นต้องการที่จะรักษาความสงบ สันติและยุติธรรม
ตามที่จักรพรรดิหมิงเน้นย้ำอยู่ตลอดให้อยู่อย่างสงบ สันติ ไม่คิดรุกรานประเทศอื่น
ถ้ามีเหตุความขัดแย้งต้องประนีประนอม อย่าให้เกิดความรุนแรง
ดังนั้นเมื่อรัฐมะละกาถูกโปรตุเกสเข้ายึดครองก็ทำให้จักรพรรดิหมิงโกรธเคืองเป็นอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้นเองสภาพบ้านเมืองของจีนในช่วงเวลานั้นก็อ่อนแอ
จีนไม่สามารถส่งกองทัพไปช่วยรัฐมะละกาได้
ประการที่สาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ทั้งสองฝ่ายจึงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด
กษัตริย์มะละกาได้เสด็จเยือนเมืองจีนและส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการอย่างต่อเนื่อง
เพื่อความสะดวกในการติดต่อการค้าขายทั้งสองฝ่าย สิ่งของต่างๆที่ถวายเป็นราชบรรณาการนั้น
ตามบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์หมิง, หมิงฮุยเดียน มีจำนวนมากกว่า 40 ชนิด อาทิ นอแรด, งาช้าง, เต่าทะเล, เพชรนิลจินดา, ไข่มุก, นกแก้ว, ช้าง,
ม้า, สัตว์ชนิดต่างๆ ผ้าชนิดต่างๆ, น้ำหอม, กำยาน, การบูร, กานพลู, เขากวาง,
ไม้เนื้อแข็ง, ดีบุก, เกลือและสิ่งของอื่นๆ
ส่วนจักรพรรดิจีนพระราชทางตอบแทนให้เป็นสิ่งของหายากในรัฐมะละกาและสิ่งของที่จีนนำเข้าจากที่อื่นๆ
เช่น เปอร์เซีย, อาหรับ, อินเดีย ฯลฯ
เนื่องจากในสมัยนั้นรัฐมะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลและยังมีสินค้าอื่นๆอีกมาจากเอเชียใต้
เอเชียตะวันตกเข้าสู่ประเทศจีนโดยผ่านมะละกา
การให้ความคุ้มครองของจีนต่อรัฐมะละกากรณีความขัดแย้งกับรัฐสยาม
ภายหลังจากที่พระเจ้า ปรเมศวร
ได้สถาปนารัฐมะละกาขึ้นมานั้น
ในเวลาต่อมาก็กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญในเอเชียตวันออกเฉียงใต้ ช่วงแรกของการก่อตั้งรัฐมะละกา
กษัตริย์มะละกาต้องยอมส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้อยุธยาซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในแหลมมลายูไม่น้อยในช่วงเวลานั้น
และภายหลังรัฐมะละกานั้นได้ถูกรับรับรอง “ความเป็นรัฐ”
จากจีนซึ่งตรงกับราชวงศ์หมิงในช่วงเวลาเดียวกัน จากการที่กษัตริย์ของ มะละกาคือ พระเจ้าปรเมศวรเสด็จไปเยือนจีน
และหลังจากนั้นก็ไม่ยอมส่งเครื่องบรรณาการไปอยุธยาอีกเลยโดยจะส่งให้จีนเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามเนื่องจากมะละกานั้นได้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูทางตอนใต้ของประเทศไทย
ดังนั้นจึงมักจะถูกคุกคามจากรัฐสยามซึ่งในช่วงเวลานั้น คือ อยุธยาที่พยายามจะยึดครองรัฐ มะละกาให้อยู่ภายใต้อำนาจให้ได้
สำหรับข้อมูลในพงศาวดารไทยนั้น
มีให้เห็นปรากฎค่อนข้างน้อยในขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการกล่าวถึงมะละกาในพงศาวดารไทย
กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าอยู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1893
(ตรงกับ ค.ศ. 1350) “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ
(เจิม)” ได้อ้างว่า “ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น 16 เมือง คือ เมืองมะละกา เมืองหลวงพระบาง เมืองตะนาวศรี
เมืองนครศรีธรรมราช...”
แต่ตามประวัติศาสตร์ของเมืองมะละกานั้นยังไม่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง
ดังนั้นข้อความในพระราชพงศาวดารนี้อาจเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นใหม่ในตอนหลังแต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการที่ไทยพยายามแผ่อำนาจลงไปในแหลมมลายูและอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนในแถบนั้นมาช้านาน
ในขณะที่ “พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ” ได้กล่าวไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
“ศักราช 817 กุนศก แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมลากา” ซึ่งศักราช 817 ตรงกับ พ.ศ. 1998 และตรงกับ ค.ศ. 1455 ดังนั้นจึงหมายความว่าภายหลังจากที่มะละกาตั้งมาได้ราว
50 ปีแล้วก็ถูกการรุกรานจากไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาประมาณ 100
ปีแรกของมะละกาก่อนที่โปรตุเกสจะยึดครอง สยามอ้างสิทธิของตนและส่งกองทัพไปตี มะละกาอยู่บ่อยๆ
ถึงแม้ว่าราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์หมิงจะรองรับฐานะของมะละกาและห้ามปรามสยาม
(อยุธยา) ก็ตาม[6]
สงครามใหญ่ระหว่างอยุธยากับมะละกานั้นเกิดขึ้นในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์
(Sultan Muzaffar Shah)
ยืดเยื้อไปจนถึงรัชสมัยจ่อๆมาของสุลต่านมาห์มุดชาห์ (Sultan Mahmud Shah) ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับสมัยพระบรมไตรโลกนาถซึ่งในพงศาวดารมลายูได้ให้รายละเอียดไว้มากโดยเฉพาะบทบาทของ
“ตุน เปรัค[7]”
เสนาบดีใหญ่แห่งราชสำนักมะละกาและดำรงตำแหน่งยาวนานหลายรัชสมัย ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถป้องกันรัฐมะละกาให้รอดพ้นจากการรุกรานจากอยุธยา
และแม้ไทยจะส่งกองทัพไปรบอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่สำเร็จ
ดังนั้นในช่วงสมัยสุลต่านมาห์มุดชาห์ก็มีการรุกรานจากอยุธยาอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้ายของสงครามที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานที่อยุธยาพยายามที่จะครอบครองมะละกา
ซึ่งการรุกรานครั้งนี้พงศาวดารมลายูกล่าวว่า “ทั้งมะละกาและ ปาหัง
(ซึ่งเคยเป็นรัฐไทย) ได้ร่วมกันพิชิตกองทัพสยามที่มาจาก ลิกอร์
(นครศรีธรรมราช)
สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของมะละกาที่สามารถรวบรวมรัฐข้างเคียงมาช่วยป้องกันการรุกรานของสยามได้
ในขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่าสยามก็ใช้กำลังพลจากนครศรีธรรมราชในการขยายอำนาจสู่ดินแดนมลายู
อย่างไรก็ตามสงครามระหว่างรัฐมะละกากับอยุธยานั้น
จีนซึ่งเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่าทั้งสองรัฐนี้ก็ได้มีบทบาทในการพยายามยุติความขัดแย้ง
โดยเฉพาะกับฝ่ายสยาม (อยุธยา) เนื่องจาก
รัฐมะละกานั้นได้ร้องเรียนไปยังจักรพรรดิของจีน เห็นได้ชัดจาก ครั้งเดือนที่
9
ปี ค.ศ. 1419 กษัตริย์ Megat Iskandar
Shah
พร้อมด้วยพระชายาเสด็จเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายสิ่งของ และร้องเรียนว่า
“สยามเตรียมการที่จะรุกรานมะละกา ในเดือนที่ 10 จักรพรรดิหมิงส่งทูตเดินทางไปยังสยาม
เพื่อชี้แจงตักเตือนพระราชาสยามให้อยู่ร่วมกันสันติกับรัฐมะละกา
หรือแม้กระทั่งเมื่อเดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1431
เสนบดีรับมะละกาเดินทางไปเยือนเมืองจีนเพื่อร้องขอให้จีนช่วยตักเตือนสยามไม่ให้รุกรานมะละกา
ซึ่งทำให้จีนส่งสาส์นไปเตือนสยามและพระราชทานผ้าไหม เงินทอง
และสิ่งของอื่นๆแก่เสนาบดี ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ารัฐมะละถือว่าตนเองเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาและเป็นเพียงรัฐบรรณาการของ
“จีน” แต่เพียงผู้เดียวตลอดมา
(อาจจะยกเว้นตอนช่วงแรกของการตั้งรัฐที่ต้องยอมส่งบรรณาการไปให้อยุธยา)
และแม้ว่ารัฐสยามจะต้องการครอบครองรัฐมะละกาก็ตาม
แต่ก็ไม่สามารถที่จะรบอย่างจริงจังได้ เนื่องจากยังคงเคารพต่ออิทธิพลของจีน
ซึ่งถือว่ามะละกาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการขยายแสนยานุภาพทางเรือของตนในเวลานั้น
(หนังสือบางเล่ม ได้กล่าวว่า ช่วงเวลานั้นจีนได้ส่งเรือรบมาไว้ที่มะละกา) เพราะฉะนั้นเพียงเวลาแค่สองถึงสามทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่
16
จำนวนชาวจีนอพยพที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในมะละกานั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยชุมชนชาวจีนในมะละกานั้นมีหัวหน้าที่มีความสัมพันธ์กับราชสำนักรัฐมะละกา
ดังนั้นรัฐมะละกาจึงได้ใช้ช่องทางนี้ส่วนหนึ่ง
ในการติดต่อกับจีนเพื่อยับยั้งการรุกรานของสยาม
นอกจากนี้แล้วกษัตริย์องค์ที่สองของรัฐมะละกายังได้อภิเษกสมรสกับหัวหน้าของชาวจีนในมะละกาด้วย
เบื้องหลังที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนสัมพันธภาพระหว่างจีนกับรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น
เป็นพระราชประสงค์ที่จะขยายการค้าโพ้นทะเลของจีนอย่างเป็นทางการ
และความสัมพันธ์ที่เหนี่ยวแน่นระหว่างจีนกับมะละกานั้นก็เป็นเพราะความจำเป็นของจีนที่จะต้องมีศูนย์กลางการค้าอยู่ในช่องแคบที่ใดที่หนึ่ง
ดังนั้นนโยบายต่างของจีนต่อมะละกานั้นก็คือความพยายามที่จะรักษาอำนาจของจีนในการค้าขายในภูมิภาคนี้ด้วย
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเมื่อมะละกาถูกรุกราน จีนก็พยายามที่จะเข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างรัฐ
เนื่องมาจากมะละกาเป็นรับที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนในฐานะรัฐบรรณาการและเป็นรัฐที่จีนถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ
มะละกาและผลประโยชน์ที่ได้รับภายใต้ระบบบรรณาการ
กล่าวโดยสรุปจึงจะเห็นได้ว่ารัฐมะละกานั้นได้มีความสัมพันธ์กับจีนอย่างแนบแน่นทั้งในด้านการค้าและในด้านการเมือง
ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็น “รัฐบรรณาการ” ภายใต้อำนาจของจีน ดังนั้นจึงสามารถสรุปผลประโยชน์ที่มะละได้รับจากจีนภายใต้การเป็นรัฐบรรณาการ
ประการแรก
ด้านการค้ากับจีนนั้นจะเห็นได้ว่ามีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างรัฐอย่างชัดเจน
โดยสินค้าจีนที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มะละกาได้รับนั้นก็จะขายต่อให้กับพ่อค้าอาหรับและพ่อค้าชาวตะวันตกต่อไป
ซึ่งก็มีส่วนทำให้มะละกามีลักษณะของการเป็นพ่อค้าคนกลางเหมือนกับรัฐศรีวิชัยก่อนหน้านี้
ในขณะเดียวกันการเป็นรัฐบรรณาการก็ทำให้การค้าขายของรัฐมะละกาต่อจีนนั้นค่อนข้างราบรื่นและได้รับการอำนวยความสะดวกรวมทั้งไม่ต้องเสียภาษีตามสิทธิ์ของรัฐบรรณาการจีน
ยิ่งไปกว่านั้นผลตอบแทนจากจีนที่จักรพรรดิพระราชทานมาเป็นของกำนัลให้กับทูตที่นำราชบรรณาการไปถวายนั้นก็มีส่วนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐมะละกาได้ไม่น้อย
ประการที่สอง ทางด้านการเมือง
จะเห็นได้ว่าจีนมีบทบาทต่อการเมืองของมะละกาเป็นอย่างมากเห็นได้จากการรับรองการเป็นกษัตริย์ของมะละกาซึ่งไม่ว่ากษัตริย์ของมะละกาองค์ใดจะขึ้นครองราชย์ก็ต้องส่งทูตมาแจ้งพร้อมกับถวายเครื่องราชบรรณาการ
นอกจากนี้ ยังช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและความขัดแย้งของรัฐมะละกา
โดยเฉพาะกับคู่กรณีคือ รัฐสยาม (อยุธยา) ที่พยายามจะทำให้มะละกาอยู่ภายใต้อำนาจ
โดยจีนได้ส่งสาส์นไปเตือนรัฐสยามไม่ให้รุกรานรัฐมะละกา เป็นต้น
ถึงกระนั้นก็ตามรัฐมะละกาก็ยังต้องสร้างเครือข่ายรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นเพื่อต่อต้านมะละกา
เห็นได้ชัดจาก
ความร่วมมือระหว่างมะละกากับปาหังในการต่อต้านกองทัพสยามจากนครศรีธรรมราชเป็นต้น
ในท้ายที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับมะละกาก็สิ้นสุดลง
ด้วยการที่โปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้
ด้วยเป้าหมายของโปรตุเกสที่จะพยายามผูกขาดเส้นทางการค้าและสินค้าโดยเฉพาะ
“เครื่องเทศ” ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงในแถบยุโรป
ดังนั้นหากโปรตุเกสสามารถยึดครองเมืองท่าอย่างมะละกาได้ก็จะทำให้มีรายได้และอำนาจทางการค้ามหาศาล
ด้วยเหตุนี้ท้ายที่สุดมะละกาถูกโปรตุเกสรุกรานอย่างหนักและเข้ายึดครอง โดยการนำทัพของ
อัลฟองโซ อัลบูเคิร์ค (Alfonso d’Albuquerque)
ซึ่งส่งผลให้มะละกาที่เคยเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองต้องตกต่ำลงเนื่องจากผลประโยชน์ส่วนหนึ่งนั้นตกเป็นของโปรตุเกสและบรรดาพ่อค้าต่างก็หันไปค้าขายกับเมืองท่าอื่นที่เป็นอิสระ
อย่างเช่น อาเจะห์ เป็นต้น ส่วนจีนในช่วงเวลานั้นก็ไม่สามารถส่งกองทัพมาช่วยมะละกาได้
แม้ว่ากษัตริย์มะละกาจะทรงส่งทูตและส่งสาส์นขอความช่วยเหลือไปก็ตามเนื่องจากจีนในช่วงเวลานั้นมีปัญหาทางการเมืองภายใน
\
บรรณานุกรม
ข้อมูลจากหนังสือ
จันทร์ฉาย
ภัคอธิคม. บทบาทของจีนต่อกิจการโลก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2521
เฉลิม
คำผาย. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดอักษรบัณฑิต. 2521
นิรอมลี
นิมะ. จีนกับโลกมลายู. พิมพ์ครั้งที่ 1. สงขลาฯ :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่กราฟฟิก. ตุลาคม 2551
เพ็ชรี
สุมิตร. ประวัติศาสตร์อารยธรรมจีน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2516
ภูวดล
ทรงประเสริฐ. รากเหง้าอิทธิพลการค้าจีนในอุษาคเนย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทพิฆเนศ พริ้น ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด. ธันวาคม 2550
ภูวดล
ทรงประเสริฐ. รากเหง้าอิทธิพลการเมืองจีนในอุษาคเนย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทพิฆเนศ พริ้น ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด. ธันวาคม 2550
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. เอกสารประกอบการประชุมสัมนาทางวิชาการ
เรื่อง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : คาบสมุทรและกลุ่มเกาะ.
นครปฐม :
คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2535
สมคิด
ศรีสิงห์. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเนศ. มิถุนายน 2523
Barbara
Watson Andaya & Leonard Y. Andaya. ประวัติศาสตร์มาเลเซีย (ผู้แปล : พรรณี ฉัตรพลรักษ์). พิมพ์ครั้งที่
2. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.
พฤศจิกายน 2551
ข้อมูลจากวารสาร
ชาญวิทย์
เกษตรศิริ. มะละกา : ศูนย์กลางการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,
ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6. ฉบับที่ 9. (กค. 2528). หน้า 61 -71
ข้อมูลจากเอกสาร
พจนา
ฤทธิรงค์. อิทธิพลวัมนธรรมภายนอกจากอินเดียและจีน.
เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 350232 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี
มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2557
ภาคผนวก
ลำดับเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัฐมะละกา
เดือนที่
10
ปี ค.ศ. 1403 จักรพรรดิหมิงเชงซู มีบัญชาให้ยินคิง
(Ying Qing) เสนาบดีในราชสำนักเดินทางไปยังอาณาจักรมะละกา
นำพระราชสาส์นและสิ่งของพระราชทานไปมอบให้กษัตริย์มะละกา
เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรี
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1405 กษัตริย์มะละกา “ปาราเมศวร” ส่งทูตติดตามเสนาบดียินคิงเดินทางไปยังเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิเพื่อขอให้มีพระราชโองการรับรองรัฐมะละกาและมอบตราประทับประจำกษัตริย์รวมทั้งเครื่องแต่งกายชั้นสูง
เดือนที่ 10 ปี ค.ศ. 1405 จักรพรรดิหมิงมอบเสาหินมีคำจารึก
เพื่อเสาหลักเมืองตั้งไว้บนภูเขาด้านตะวันออก
จารึกบทกวีคำสดุดีของจักรพรรดิต่อกษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 4 ปี ค.ศ. 1407 ทูตรัฐมะละกาเดินทางไปยังเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายเครื่องราชบรรณาการได้รับพระราชทานเงินทอง
และจักรพรรดิมีบัญชาให้เสนาบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศจัดสิ่งของพระราชทาน เช่น
ผ้าไหมดิ้นทอง อานม้า และสิ่งของอื่นๆ มอบให้กษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1408 จักรพรรดิหมิงมีบัญชาให้ เจิ้งเหอ (Zheng
He) ขุนนางมุสลิมจีนเป็นผู้นำกองเรืออันยิ่งใหญ่ของจีนเดินทางไปเยือนรัฐมะละกา
เดือนที่ 2 ปี ค.ศ. 1409 กษัตริย์มะละกา ปารเมศวร
มีบัญชาการให้เสนาบดีเดินทางไปเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ
และทูตได้รับพระราชทานเงิน ทอง ผ้าไหม จักรพรรดิได้มอบเงิน
ทองชนิดต่างๆพระราชทานให้มะละกา
เดือนที่ 7 ปี ค.ศ. 1411 กษัตริย์มะละกา ปวรเมศวร
พร้อมด้วยพระชายาเสนาบดีขุนนาง และข้าราชบริพารตามเสด็จไปเยือนเมืองจีนจำนวน 540
คนและทางจักรพรรดิจีนให้การต้อนรับอย่างสมพระเกียรติและยิ่งใหญ่
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1411 กษัตริย์มะละกาจะเสด็จกลับ
จักรพรรดิจัดให้มีงานเลี้ยงพระราชทานที่ตำหนักเฟงเทียน (Feng Tian) พระราชทานสิ่งของต่างๆแก่กษัตริย์ เสนาบดีขุนนางและผู้ติดตามทุกคน
เดือนที่ 6 ปี ค.ศ. 1412 กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้พระราชวงศ์
เดินทางไปเยือนเมืองจีนเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ.
1412 พระราชวงศ์จะเดินทางกลับ จักรพรรดิมีบัญชาให้ Gau Quan เสนาบดีในราชสำนักเดินทางไปรัฐมะละกา นำสิ่งของพระราชทาน เช่น
ผ้าไหมดิ้นทอง ผ้าแพร เงิน ทอง นำไปมอบให้กษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 11 ปี ค.ศ. 1412 จักรพรรดิมีบัญชาให้เจิ้งเหอเดินทางไปเยือนรัฐมะละกา
นำสิ่งของพระราชทานมีผ้าไหมชนิดต่างๆ ไปมอบให้กษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ. 1413 กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ Sai
Di La Sha และผู้ติดตามเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการได้พระราชทานเงิน
ผ้าไหม ดิ้นทอง ชุดเครื่องแต่งกายชั้นสูง ผ้าซาตินและสิ่งของอื่นๆ
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ. 1414 พระโอรสของพระเจ้าปวรเมศวร
เดินทางไปเยือนอินเดีย แจ้งข่าวการสวรรคตของพระราชบิดา
ดังนั้นพระจักรพรรดิจึงได้พระราชทานเงิน ทองคำ ผ้าไหมดิ้นทอง มงกุฎ
เข็มขัดประดับอัญมณีและชุดเครื่องแต่งกายชั้นสูง
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1415 กษัตริย์มะละกาส่งทูตเดินทางไปเมืองจีน
เข้าเฝ้าจักรพรรดิ ถวายราชบรรณาการ
เดือนที่ 12
ปี ค.ศ. 1416 เมื่อทูตมะละกาจะเดินทางกลับ
จักรพรรดิพระราชทานผ้าไหมเครื่องแต่งกายและสิ่งของอื่นๆ
ประกอบกับช่วงเวลานี้จักรพรรดิมีบัญชาให้เจิ้งเหอไปเยือนมะละกา
นำพระราชสาส์นและสิ่งของพระราชทานให้กษัติรย์มะละกา
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ. 1418 กษัตริย์มะละกา Megat Iskandar
Shah มีบัญชาให้พระเชรษฐา Sha Li Wang La ha เดินทางไปยังเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
ถวายราชบรรณาการ จักรพรรดิจีนได้พระราชทานเข็มขัดประดับอัญมณี ผ้าไหมดิ้นทอง
ชุดเครื่องแต่งกาย ทองคำ เงินและเงินตราชนิดต่างๆ
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1419
กษัตริย์ Megat Iskandar Shah
พร้อมด้วยพระชายาเสด็จเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายสิ่งของ และร้องเรียนว่า
“สยามเตรียมการที่จะรุกรานมะละกา ในเดือนที่ 10 จักรพรรดิหมิงส่งทูตเดินทางไปยังสยาม
เพื่อชี้แจงตักเตือนพระราชาสยามให้อยู่ร่วมกันสันติกับรัฐมะละกา
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1420
กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ Duan Gu Ma La Shi Di เดินทางไปเยือนจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ ได้รับพระราชทานเงิน
ทอง ผ้าไหมดิ้นทอง เครื่องแต่งกายและสิ่งของอื่นๆ
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1423
เสนาบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศจีน นำคณะทูตจากรัฐมะละกาและรัฐอื่นๆอีก
15 รัฐ จำนวน 1,200 คนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1424
กษัตริย์มะละกา ศิริมหาราชาพร้อมด้วยพระชายา
เสนบดีขุนนางและผู้ติดตาม เสด็จเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ ถวายราชบรรณาการ
แจ้งข่าวการสวรรคตของพระราชบิดา พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แทน
เดือนที่ 11 ปี ค.ศ.
1424 กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ Na La Di Pa Na เดินทางไปเยือนเมืองจีน เข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ ได้รับพระราชทาน
เงิน ทอง เครื่องแต่งกาย รองเท้าและสิ่งของอื่นๆ
เดือนที่ 5 ปี ค.ศ.
1426 กษัติรย์มะละกา มีบัญชาให้ Yi Shi Ma และคณะเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ
จักรพรรดิพระราชทานเงิน ทอง ผ้าไหม ผ้าซาติน และสิ่งของอื่นๆให้กษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1431
เสนบดีรับมะละกาเดินทางไปเยือนเมืองจีนเพื่อร้องขอให้จีนช่วยตักเตือนสยามไม่ให้รุกรานมะละกา
ซึ่งทำให้จีนส่งสาส์นไปเตือนสยามและพระราชทานผ้าไหม เงินทอง
และสิ่งของอื่นๆแก่เสนาบดี
เดือนที่ 10 ปี ค.ศ. 1433
กษัตริย์มะละกาพร้อมด้วยเชื้อพระวงศ์เสด็จเยือนเมืองจีนเพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
เดือนที่ 4 ปี ค.ศ.
1434 กษัตริย์มะละกาและน้องชาย ระเด่นปาลา เสนบดีฝ่ายคลังเวนดัน
และคณะติดตาม
เสด็จเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายม้าและสิ่งของต่างๆช่วงเดือนที่ 5 จัดให้มีงานเลี้ยงขึ้นและจักรพรรดิพระราชทานสิ่งของให้กษัตริย์และน้องชายและคณะผู้ติดตามจำนวน
228 คน สิ่งของพระราชทาน เช่น ทองคำ เงิน ผ้าไหม ผ้าแพร
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ.
1435 กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ น้องชาย ระเด่นปาลา
ไปเยือนจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ ถวายม้าและสิ่งของอื่น ๆ
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ.
1439 กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ Mo Zhe La Zha ManDa Li เดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
ถวายราชบรรณาการและได้รับพระทานเงินตราและผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าซาติน ผ้าแพร
เดือนที่ 11 ปี ค.ศ. 1444
กษัตริย์มะละกามีบัญชาให้ Mo Zhe Na เดินทางไปเยือนเมืองจีน
เข้าเฝ้าจักรพรรดิ ถวายราชบรรณาการและม้า
เดือนที่ 2 ปี ค.ศ.
1445 ทูตมะละกาเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายม้าเป็นราชบรรณาการ
จักรพรรดิจัดเลี้ยงพระราชทานและมอบเงินตราชนิดต่างๆเครื่องแต่งกายอื่นๆและมอบของพระราชทานให้แก่กษัตริย์มะละกาและพระชายา
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1445
ทูตรัฐมะละกา เดินทางไปเยือนประเทสจีนและเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีน
เพื่อขอร่มฉัตรและเครื่องแต่งกายชุดมังกร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่ในความคุ้มครองของจักรพรรดิ
เดือนที่ 7 ปี ค.ศ. 1455
ทูตมะละกาและคณะผู้ติดตาม เดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายม้าและราชบรรณาการ
จักรพรรดิจัดเลี้ยงพระราชทานและมอบ เงินตราชนิดต่างๆ ผ้าไหมดิ้นทอง
เครื่องแต่งกายและมอบพระราชสาส์นและสิ่งของให้กษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 5 ปี ค.ศ.
1456 ทูตมะละกาเดินทางไปเยือนเมืองจีนแต่เมื่อถึงเขตแดนถูกปล้นชิงทรัพย์และถูกฆ่าตาย
เดือนที่ 6 ปี ค.ศ. 1459
กษัตริย์มะละกาส่งทูตเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดืถวายราชบรรณาการ
จักรพรรดิจัดเลี้ยงและได้พระราชทานหมวก เข็มขัดประดับอัญมณี
เครื่องแต่งกายชุดผ้าไหมดิ้นทองและของอื่นๆ
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ.
1459 จักรพรรดิบัญชาให้เสนาบดีและผู้ช่วยเดินทางไปเยือนมะละกา
เพื่อนำพระราชโองการรับรองการขึ้ยครองราชย์ของกษัตริย์มะละกาและแสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของกษัตริย์มุซัฟฟาร์
ซาฮ์
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1461
เสนบดีฝ่ายต่างประเทศของจีนรายงานว่าเรือที่เดินทางไปมะละกานั้นประสบกับพายุจนได้รับความเสียหาย
เดือนที่ 10 ปี ค.ศ.
1468 ทูตมะละกาและล่ามแปลเดินทางเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
ถวายช้าง เต่าทะเลและสิ่งของอื่นๆ ส่วนจักรพรรดิพระราชทานเครื่องประดับสวมศรีษะ เข็มขัดประดับอัญมณี
เดือนที่ 10 ปี ค.ศ.
1469 กษัตริย์สุลต่าน มันโซร์ ซาฮ์
มีบัญชาให้ทูตเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิถวายราชบรรณาการ จักรพรรดิได้จัดเลี้ยงและพระราชทานผ้าไหมและสิ่งของอื่นๆ
เดือนที่ 12 ปี ค.ศ. 1474
เสนาบดีจีนได้รับบัญชาให้เดินทางไปรัฐจามปาแต่เนื่องด้วยขณะนั้นเหตุการณ์ไม่สงบจึงเปลี่ยนมายังรัฐมะละกาแทน
เดือนที่ 12 ปี ค.ศ. 1475
ทูตมะละกาและผู้ติดตามเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
ถวายราชบรรณาการ ถวายช้าง ไก่งวง นกแก้วสีขาว เสือดาวและสิ่งของอื่นๆ
เดือนที่ 7 ปี ค.ศ. 1481
จักรพรรดิจีนมีบัญชาให้ Lin Rong และผู้ช่วยเดินทางไปเยือนมะละกาเพื่อรับรองสุลต่านมาหมุด
ซาฮ์ ราชโอรสขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ. 1481
ทูตมะละกาและผู้ติดตามเดินทางไปเยือนเมืองจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ
ถวายราชบรรณาการ ถวายช้างจักรพรรดิพระราชทานงานเลี้ยง มอบเครื่องแต่งกาย
ผ้าไหมดิ้นทองแก่ทุกคนและมอบสิ่งของพระราชทานให้กษัตริย์และพระชายา
เดือนที่ 9 ปี ค.ศ. 1481
ทูตมะละกาเข้าจักรพรรดิจีน และกราบทูลว่า
ให้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐอันนัมกับรัฐมะละกา
เดือนที่ 12 ปี ค.ศ. 1483
เสนาบดีจากจีนเดินทางไปเยือนมะละกาเพื่อรับรองฐานะกษัตริย์
สุลต่านมาหมุด ซาฮ์แต่เรือประสบภัยทางทะเล ถูกพายุพัดจนทูตเสียชีวิต
เดือนที่ 5 ปี ค.ศ. 1484
จักรพรรดิมีบัญชาให้เสนาบดีคนใหม่นำเอาพระราชโองการรับรองการขึ้นเป็นกษัตริย์ของมะละกาแทนคนเดิมที่ประสบอุบัติเหตุทางทะเล
เดือนที่ 8 ปี ค.ศ. 1485
ผู้ช่วยทูตรายงานต่อจักรพรรดิจีนว่า เสนาบดีคนใหม่นั้นได้เสียชีวิตลงระหว่างทางเนื่องจากอาการป่วยที่เมือง
Jiang Xi จักรพรรดิจีนได้ส่งขุนนางคนใหม่มาทดแทน
เดือนที่ 3 ปี ค.ศ. 1487
ผู้ช่วยทูตได้เดินทางกลับจากรัฐมะละกานำพระราชสาส์นและสิ่งของพระราชทานจากกษัตริย์มะละกา
เดือนที่ 12 ปี ค.ศ. 1508
ทูตมะละกาเดินทางไปเยือนจีนเข้าเฝ้าจักรพรรดิ ถวายราชบรรณาการ
จักรพรรดิจัดเลี้ยงพระราชทานที่ตำหนักเฟงเทียน
เดือนที่ 1 ปี ค.ศ. 1510
ทูตมะละกาถูกฆ่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชั้นสูงและฝ่ายต่างประเทศแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก
เดือนที่ 12 ปี ค.ศ. 1520
โปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาได้ เด็ดขาดและได้ส่งทูตมายังเมืองจีนแต่จีนกลับปฏิเสธ
เนื่องจากเป็นการยึดครองรัฐบรรณการของตน
เดือนที่ 7 ปี ค.ศ. 1521
โปรตุเกสบุกรุกมะละกา
และได้ส่งทูตเข้าเฝ้าจักรพรรดิเพื่อถวายราชบรรณาการและขอให้รับรองมะละกา
ในขณะเดียวกันทูตมะละกาได้ร้องขอทหารไปช่วยป้องกันรัฐมะละกาด้วยเช่นกัน[i]
[4]
เดิมทีนั้นเจิ้งเหอมีชื่อว่า
"ซานเป่า" แซ่หม่า เกิดที่มณฑลยูนนาน
ซึ่งเป็นเขตแดนของมองโกลทางตอนใต้ของประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 1371
มีชื่อมุสลิมเป็นภาษาอาหรับว่า มูฮัมมัด อับดุลญับบารฺ
เกิดในตระกูลขุนนางมุสลิม เซมูร์ และเป็นลูกหลานชนชั้นที่หกของ ซัยยิด อัจญาล
ชัมสุดดีน อุมัร ผู้ปกครองมณฑลยูนนานผู้ลือนาจากบุคร ในอุซเบกิสถาน ส่วนแซ่หม่า
มาจาก มาสูฮฺ (มาสีหฺ) บุครคนที่ 5 ของ ซัยยิด อัจญาล ชัมสุดดีน อุมัร
บิดาของเจิ้งเหอมีนามว่า มีร ตะกีน และปู่มีนามว่า กะรอมุดดีน
ได้ไปทำพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ
แต่ก่อนแซ่หม่าเรียกว่าหม่าเหอ
เจิ้งเหอมีพี่น้อง 5 คนเป็นชาย 1 คน หญิง 4 คน เมื่อหม่าเหออายุได้ 12 ปี
ตรงกับช่วงที่กองทัพของจักรพรรดิหงหวู่หรือจูหยวนจาง
ปฐมราชวงศ์หมิงนำกำลังทัพเข้ามาขับไล่พวกมองโกลที่มาตั้งราชวงศ์หยวนออกจากประเทศจีน
ทำการยึดครองยูนานเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรหมิงได้สำเร็จ
ในเวลานั้นหม่าเหอได้ถูกจับตอนเป็นขันทีมีหน้าที่รับใช้เจ้าชายจูตี้
จนได้รับความไว้วางใจอย่างสูง
ช่วงสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างเอี้ยนหวังจูตี้กับหมิงฮุ่ยตี้
กษัตริย์ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่
เจิ้งเหอมีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่
มีชื่อรัชกาลว่า "หย่งเล่อ" และได้รับการสนับสนุนเป็นหัวหน้าขันที
ต่อมาได้รับพระราชทานแซ่เจิ้ง จึงเรียกขานว่า "เจิ้งเหอ"
แต่ชื่อที่รู้จักกันดีก็คือ "ซันเป่ากง" หรือ "ซำปอกง" (三寶公/三宝公).
[6]
ชาญวิทย์
เกษตรศิริ. มะละกา : ศูนย์กลางการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. ศิลปวัฒนธรรม,
6,9 (กค.2528). 66-79
[7]
นอกจากจะสามารถป้องกันการคุกคามจากรัฐภายนอกได้แล้ว
ยังมีบทบาทในการแผ่ขยายอำนาจของรัฐมะละกาออกไปกว้างขวาง ครอบครองรัฐที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจสยามเช่น ปาหัง, ตรังกานู, ปัตตานี,
นอกจากนี้ยังรวมรัฐอื่นๆในบริเวณฝเกาะสุมาตราด้วยเช่น จัมบี เกาะบินตัง ปาเล็มบัง
แคมปาร์ ยกเว้น “รัฐอาเจะห์