วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“ ระบบอุปถัมภ์” กับ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในอยุธยา

“ ระบบอุปถัมภ์” กับ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในอยุธยา

สภาพสังคมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสังคมศักดินา[1] แบ่งออกเป็นชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง แต่ละชนชั้นต่างก็มีบทบาทในการสร้างและพัฒนาชาติตามสถานภาพและฐานะของตนในสังคม และต่างก็มีหน้าที่ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกันและความรับผิดชอบต่อสังคมที่กฎหมายระบุไว้มีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครอง ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิที่แตกต่างกันรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในลักษณะ “ระบบอุปถัมภ์” ด้วย

ความหมายของ “ระบบอุปถัมภ์”
คำเรียกขานว่า “ผู้อุปถัมภ์” (patron)เป็นคำที่มาจากภาษาสเปน หมายถึง บุคคลที่มีอำนาจ สถานภาพและมีอิทธิพล ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่านั้นคือ ผู้รับอุปถัมภ์ (client) โดยผู้อุปถัมภ์ให้ผลประโยชน์แก่ผู้รับอุปถัมภ์ และหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับตอบแทนกลับมาในรูปแบบของสินค้า ความภักดี การสนับสนุนทางการเมืองจากผู้รับอุปถัมภ์ของตน (สังเกตได้ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้อุปถัมภ์หนึ่งคนจะมีผู้รับอุปถัมภ์หลายคน เช่น ระบบศักดินาไทย ซึ่งเจ้านายคนหนึ่งจะมีไพร่หลายคน เป็นต้น) ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (patronage relationships) เป็นความสัมพันธ์ในแนวตั้ง(vertical relationships)[2]
             ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอนของบุคคลในสังคม เช่น ขุนนางยอมรับฐานะของพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือกว่าตน โดยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นที่มาของอำนาจและผลประโยชน์แห่งตน ส่วนไพร่ยอมรับฐานะของขุนนางและมูลนายระดับอื่นๆ ว่าอยู่เหนือกลุ่มของตน


การเกิดขึ้นของระบบไพร่(ศักดินา) : กำเนิดของระบบอุปถัมภ์
การเกิดระบบไพร่นั้นเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครองของกรุงศรีอยุธยา เพื่อจัดระเบียบคนในอยุธยารวมถึงควบคุมกำลังคนในอยุธยา จากการปฏิรูปในครั้งนี้ทำให้เกิดระบบศักดินาขึ้นซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มชนชั้นต่างๆลดหลั่นกันมา การแบ่งชนชั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สามารถแบ่งได้ 2 ชนชั้นใหญ่ๆ ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และ ชนชั้นถูกปกครอง[3]
ชนชั้นปกครอง คือ ชนชั้นที่มีอำนาจในการควบคุมและกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคม แต่มีผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาเป็นจำนวนมาก ชนชั้นในระดับนี้จะได้แก่ พระมหากษัตริย์, เจ้านาย(เชื้อพระวงศ์) และขุนนาง
พระมหากษัตริย์: ลักษณะฐานะของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญคือทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัว คือ เป็นสมมติเทพผู้เป็นประมุขของประเทศ ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้า เช่น เป็น  พระนารายณ์อวตาร เป็นต้น ทรงเป็นเจ้าชีวิตของสังคมอยุธยาและยังเป็นเจ้าแผ่นดินทั้งประเทศ พระองค์สามารถพระราชทานที่ดินเนื้อที่เท่าใด ให้แก่บุคคลใด และทรงเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ นอกจากนี้ยังทรงเป็น ธรรมราชา คือ ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และทรงตราพระราชกำหนดพระราชกฤษฎีกาและกฎหมายต่างๆ ให้บุคคลในสังคมปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไขและเป็นผู้ชี้ขาดในข้อพิพาทและความผิดถูกทั้งปวง
                เจ้านาย (หรือ พระบรมวงศานุวงศ์) เป็นชนชั้นที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ เป็นชนชั้นที่ได้รับเกียรติยศและอภิสิทธิ์มาตั้งแต่กำเนิด แต่การมีอำนาจมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เจ้านายมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาชาติ รวมถึงเป็นผู้ช่วยกษัตริย์ในด้านการปกครองและการสงครามและมีบทบาทในราชสำนัก ในการผลิตและบริโภควัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งประเพณีหลวงซึ่งได้เผยแพร่และถ่ายทอดออกไปสู่ชนชั้นอื่นๆ
                ขุนนาง: ชนชั้นขุนนางประกอบด้วยขุนนางที่มีศักดิ์นาตั้ง 400 ไร่ขึ้นไป โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขุนนางทำหน้าที่บริหารราชการและควบคุมพลเมืองแทนพระองค์ซึ่งการเป็นขุนนางจะไม่ได้รับเงินเดือนแต่จะได้รับพระราชทาน ยศ, ราชทินนาม, ตำแหน่ง และศักดินา ซึ่งสิ่งสำคัญทั้ง 4 ประการนี้เป็นเครื่องกำหนดอำนาจและเกียรติยศของขุนนางโดยมักจะเกี่ยวข้องกันอยู่ สำหรับ“ ศักดินา ” นั้นเป็นเครื่องกำหนดความสูงต่ำของยศศักดิ์ขุนนางได้ชัดเจน โดยขุนนางจะมีศักดินาสูงสุดได้เพียง 10,000 ไร่เท่านั้น และขุนนางทุกคนจะต้องเข้าร่วมพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ2ครั้ง ใครขาดดื่มมีโทษถือกบฏ
                ขุนนางมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลไพร่พลในกรมกองที่ตนเป็นผู้บัญชา และแบ่งให้สังกัดกรมกองในเมืองหลวง ไพร่พลในสังกัดจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและศักดินาของขุนนางผู้นั้น และยังมีอำนาจในการเก็บภาษีอากร นอกจากนี้ยังมีการจำแนกหน้าที่ในการเป็นผู้พิพากษาอรรถคดีต่างๆ และยังมีหน้าที่ต้องรายงานแก่พระมหากษัตริย์ทันทีที่ได้รู้ได้เห็นการเคลื่อนไหวสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเป็นผลร้ายต่อกษัตริย์ เช่น ข่าวการกบฏ การยักยอกพระราชทรัพย์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้ขุนนางระแวงกันเองหรืออาจมีการกลั่นแกล้ง โดยแจ้งเรื่องเท็จ ทำให้ขุนนางต้องระมัดระวังอยู่เสมอ[4]
ชนชั้นถูกปกครอง เป็นประชากรส่วนใหญ่ในสังคมซึ่งจะอยู่ภายใต้บังคับบัญชาและมีอำนาจน้อยกว่า กลุ่มชนชั้นปกครอง โดยชนชั้นในระดับนี้จะได้แก่ ไพร่และทาส
ไพร่ คือ ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง โดยไพร่ต้องรับใช้ราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์  โดยเฉพาะผู้ชายต้องไปขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า ถ้าชายฉกรรจ์ไม่มีสังกัดก็ไม่มีสิทธิในการศาลและไม่มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้นไพร่ต้องปฏิบัติราชการด้วยการให้แรงงานแก่รัฐ เป็นการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน ไพร่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ไพร่สม” และ “ไพร่หลวง”
 ไพร่สม คือ ชายที่มีอายุครบ 18 ปี ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นไพร่สมที่กรมพระสุรัสวดี และได้รับการสักท้องมือว่าเป็นคนสังกัดของกรมใดและฝึกหัดงานกับมูลนาย ทำงานรับใช้มูลนายโดยตรง แต่บางโอกาสก็ถูกเกณฑ์แรงงานทำให้แก่รัฐด้วย และเมื่ออายุ 20 ปีก็เปลี่ยนสถานะเป็นไพร่หลวง
                  ไพร่หลวง   คือ   ไพร่ที่ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์โดยตรงพระองค์ทรงปกครองและควบคุมให้ไพร่หลวงอยู่สังกัดอยู่ในกรมกองต่างๆ  โดยมีขุนนางเป็นผู้ดูแลควบคุม  ไพร่หลวงที่สังกัดกรมกองต่างๆอาจไม่   ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน โดยส่ง  “เงินค่าราชการ”  ทดแทนตัว  ส่วนไพร่หลวงที่อยู่ไกลมารับใช้งานเกณฑ์ทางราชการไม่ได้  ก็ให้ส่งสิ่งของอันเป็นทรัพยากรจากท้องถิ่นแทนการเข้าเวรตามที่ทางราชการ เรียกว่า การส่ง   ส่วย ต่อมามีการอนุญาตให้ใช้เงินแทนได้ในอัตราเดือนละ ๒ บาท ไพร่หลวงลักษณะนี้เรียกว่า ไพร่ส่วย
ทาส คือ ชนชั้นที่ต่ำที่สุดของสังคม มีจำนวนน้อยเป็นผู้ขาดอิสรภาพและไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นายทาสมีสิทธิ์ลงโทษได้ตามใจชอบ แต่ต้องไม่ถึงตายและนายทาส สามารถขายหรือให้เช่าทาสของตนได้แต่กฎหมายห้ามขายทาสออกนอกประเทศได้ โดยทาสเองก็มีสิทธิ์ไถ่ถอนตัวเองเป็นอิสระได้ โดยทาสนั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น การขายตัวเองเป็นทาส ถูกผู้อื่นขาย, เกิดจากบิดาและมารดาที่เป็นทาส หรืออาจจะมาจากการตกเป็นเชลยจากสงคราม
ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น
         ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองให้เป็นระบอบศักดินานั้น  ทำให้เกิดชนชั้นทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้น  2  แบบ  ซึ่งก็คือ  ชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง  โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นทั้ง 2  ซึ่งจะมีความแตกต่างกันมากในด้านฐานันดร  และสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นในชนชั้นที่แตกต่างกันของระบอบศักดินานั้น  คือ  ความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เกื้อหนุนกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางประการให้แก่กันละกัน   โดยจะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นว่าจะต้องชนชั้นผู้ปกครองกับชนชั้นถูกปกครองเท่านั้น  แต่รวมถึงชนชั้นปกครองด้วยกัน คือ  กษัตริย์และขุนนาง ที่ให้การเกื้อหนุนกันและกัน  ซึ่งเรียกความสัมพันธ์ดังกล่าวว่า  “ ระบบอุปถัมภ์ ”
ระบบอุปถัมภ์ระดับมูลนาย  (กษัตริย์ – ขุนนาง) 
        การอุปถัมภ์ในระดับมูลนายความจริงมีมาตั้งแต่ก่อนปฏิรูปการปกครองสมัยพระบรมไตรโลกนาถเสียอีก   แต่อาจจะไม่เห็นได้ชัดเจนเท่าที่ควรเพราะเนื่องจากไม่ได้อยู่ในรูปลักษณ์ที่เป็นทางการ    จนกระทั่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง  จึงทำให้ก่อเกิดการอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการขึ้น   ซึ่งสาเหตุที่ทำให้พระองค์ต้องอุปถัมภ์เหล่ามูลนาย  คือ  การขยายอาณาเขตของอยุธยาที่มีการขยายตัวมากขึ้น  จากการไปทำศึกสงครามในรัชกาลก่อนๆ  ทำให้อยุธยามีจำนวนประชากรและอาณาเขตที่ยากเกินควบคุมในการดึงแรงงานมาใช้    จึงส่งผลให้ต้องมีการปฏิรูปใหม่ทั้งเพื่อให้การปกครองมีความเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อจำกัดอำนาจของขุนนางให้คงอยู่กับกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวและไม่คิดแข็งข้อตั้งตัวเป็นใหญ่ และที่สำคัญคือ  การช่วยควบคุมดูแลการปกครองบ้านเมืองที่กำลังขยายตัวและสามารถดึงแรงงานมาใช้โดยใช้ขุนนางเป็นตัวควบคุมเพราะเนื่องจากจำนวนคนที่มากและสถานะที่สูงดั่งเทพจึงไม่อาจสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองได้โดยตรง  จึงทำให้กษัตริย์ต้องเพิ่มการอุปถัมภ์เพื่อมาสร้างความสัมพันธ์กับขุนนางให้มากขึ้น  โดยการที่กษัตริย์จะให้รางวัลกับขุนนางที่มีความดีความชอบในการทำศึกสงครามหรือเรื่องอื่นๆ เหมือนที่เคยทำมา  เช่น  เงินทอง  ยศศักดิ์ที่สูงขึ้น เป็นต้น  และรวมถึงที่ดินอันเป็นปัจจัยในการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์กำหนดของกฎหมาย  
นอกเหนือจากนี้มีการมอบไพร่สมไปรับใช้มูลนายโดยตรง   พร้อมมีไพร่พลในสังกัดที่ขุนนางตำแหน่งนั้นอยู่   รวมถึงให้ศักดินาแก่ลูกของขุนนางทุกคนให้อยู่เหนือไพร่     ดังนั้นในส่วนของขุนนางหากต้องการที่จะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานก็จะต้องเข้าใกล้ชิดกษัตริย์อยู่บ่อยครั้งและแสดงความจงรักภักดี  เพื่อให้กษัตริย์ไว้วางพระทัยและให้ความสำคัญกับตนเป็นพิเศษ  นอกจากนี้หากขุนนางคนในมีลูกสาวก็จะนำมาถวายตัวเพื่อรับใช้ในวังหรืออาจถวายตัวเป็นสนมของกษัตริย์   แต่ถ้ามีลูกชายก็จะสนับสนุนให้เป็นข้าราชการหรือมหาดเล็ก[5] โดยมีจุดประสงค์เพื่อสืบศักดินาชั้นมูลนายต่อไปและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเพื่อผลประโยชน์บางประการ  แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งมันเป็นสิ่งที่แสดงถึงการสนับสนุนกษัตริย์เช่นกัน  เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นชอบคุณสมบัติของกษัตริย์
ระบบอุปถัมภ์ระดับไพร่ (ขุนนาง ไพร่)
                ความสัมพันธ์ในระดับของขุนนางและไพร่นั้น ดำเนินไปในลักษณะระบบอุปถัมภ์หรือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมูลนายต้องให้ความช่วยเหลือคุ้มครองไพร่ในสังกัด หากไพร่ถูกฟ้องร้อง มูลนายจะเป็นธุระนำเรื่องไปขึ้นศาลให้ไพร่ได้รับความคุ้มครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย มูลนายให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และไพร่ยังจะได้รับความช่วยเหลือในยามขัดสนเดือดร้อนเงินทองอีกด้วย ส่วนสิ่งที่ไพร่มอบให้แก่มูลนาย ได้แก่ ความจงรักภักดีปฏิบัติตามคำสั่ง และให้ของกำนัลหรือผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น แรงงานตอบแทนแก่มูลนาย ในบางครั้งการที่ขุนนางให้การอุปถัมภ์ไพร่ ก็ทำให้ตนมีบริวารมากและเมื่อมีบริวารมากก็ย่อมมีอำนาจมาก ซึ่งจะทำให้มีผลต่อความมั่งคงของบ้านเมือง กล่าวคือ อาจมีการแย่งชิงราชสมบัติในกรณีเมื่อกษัตริย์สวรรคต หรือ การผูกขาดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะขุนนางได้อาศัยกำลังของไพร่ในการควบคุมแรงงานเสริมสร้างฐานะและความเข้มแข็งในด้านอำนาจทางการเมืองของตน ดังนั้นไพร่จึงมีบทบาทในฐานะเป็นฐานกำลังอำนาจที่สำคัญ
               ดังนั้นความสัมพันธ์ของขุนนางกับไพร่ในลักษณะของการอุปถัมภ์นั้น เป็นไปในลักษณะพึ่งพากันโดยต่างฝ่ายก็อาศัยผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไพร่อาศัยผลประโยชน์จากขุนนางในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่ขุนนางก็อาศัยผลประโยชน์จากไพร่ในเรื่องของเป็นฐานอำนาจของตน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องของความสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ทั้งระดับกษัตริย์ กับ ขุนนางและขุนนาง กับ ไพร่ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกันและต่างกัน กล่าวคือลักษณะที่เหมือนกันนั้น คือ รูปแบบของการอุปถัมภ์นั้นเป็นความสัมพันธ์เชิงแนวตั้งมีผู้ที่เหนือกว่าและด้อยกว่า (ในแง่ของสถานภาพทางสังคม) เป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หมายถึง ต่างฝ่ายต่างก็อาศัยผลประโยชน์ของอีกฝ่ายซึ่ง และวัตถุประสงค์ของการอุปถัมภ์และรับอุปถัมภ์นั้นคล้ายกัน ในด้านของกษัตริย์ การอุปถัมภ์ขุนนางก็เพื่อสร้างฐานอำนาจที่มั่นคง ปลอดภัยในการครองราชย์ ในขณะที่ขุนนางอุปถัมภ์ไพร่ก็เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมืองให้มีความแข็งแกร่ง มีบริวารมาก และไพร่ผู้รับอุปถัมภ์ก็อาศัยประโยชน์จากการอุปถัมภ์นั้นในแง่ของการได้รับการคุ้มครองจากอำนาจของขุนนาง

ระบบอุปถัมภ์กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ระบบอุปถัมภ์สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของขุนนางที่มี จะสังเกตได้ว่าอำนาจของขุนนางนั้นในช่วงแรกของระบบศักดินา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสามารถควบคุมขุนนางเหล่านั้นได้  เพราะเนื่องจากขุนนางอาจจะพึ่งเริ่มสั่งสมอำนาจ จนกระทั่งต่อมาขุนนางเริ่มมีอำนาจและบทบาททางการเมืองมากขึ้นจน ภายหลังมักจะเกิดเหตุการณ์หลายครั้งที่ขุนนางปราบดาภิเษกหรือกำหรือกำหนดบุคคลที่ขึ้นครองราชย์
                อำนาจของขุนนางนั้นได้มาจากการสถาปนาโดยกษัตริย์ซึ่งเป็นการได้รับอำนาจโดยตรง และในขณะเดียวกันการมีไพร่อยู่ใต้สังกัด ซึ่งเป็นการสะสมอำนาจ จนเพิ่มอำนาจขึ้นเรื่อยๆในที่สุด อาจกล่าวได้ว่าการที่ขุนนางมีอำนาจมากนั้นมาจากผลของการอุปถัมภ์ไพร่ ซึ่งยิ่งขุนนางอุปถัมภ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีบริวารเยอะขึ้น และเมื่อมีกำลังพลในสังกัดมากขึ้นก็ย่อมเพิ่มอำนาจทางการเมืองและราชการมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงด้านการปกครอง
                หากเปรียบเทียบการอุปถัมภ์ระหว่างระดับกษัตริย์-ขุนนาง กับ ขุนนาง-ไพร่ แล้วนั้นอาจกล่าวได้ว่าความเข้มข้นของความสัมพันธ์ทั้ง 2 ระดับนั้นไม่เท่ากัน กล่าวคือ ระดับขุนนาง-ไพร่ ตลอดระยะเวลานั้นการอุปถัมภ์มีความสม่ำเสมอค่อนข้างคงที่ เพราะเป็นการอุปถัมภ์แบบทั่วไปคือขุนนางให้ความคุ้มครองกับไพร่ในสังกัด ต่างจากระดับของกษัตริย์-ขุนนาง ซึ่งการอุปถัมภ์มีความไม่แน่นอนโดยกษัตริย์บางพระองค์ อุปถัมภ์ขุนนางเพื่อเป็นฐานอำนาจของตนโดยการบำเหน็จ ประทานรางวัลให้ เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ช่วงเวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามจึงต้องมีการปกครองอย่างเข้มงวดในขณะเดียวกัน ก็ปูนบำเหน็จแม่ทัพที่ทำความดีความชอบด้วยเป็นการอุปถัมภ์เพื่อให้มีกองกำลังที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ช่วงบ้านเมืองสงบไม่มีศึกสงครามการอุปถัมภ์ขุนนางจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า ซึ่งในช่วงอยุธยาตอนกลาง-ปลาย จะเห็นได้ว่ากษัตริย์มาจากขุนนาง หรือขุนนางเป็นผู้กำหนดกษัตริย์ อาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้นขุนนางมีอำนาจเต็มตัว(ช่วงหลังจากพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นไป) ทำให้สถานะของกษัตริย์นั้นไม่แน่นอนอาจมีการถูกปราบดาภิเษกได้หากขัดผลประโยชน์กับขุนนางหรือไม่เป็นไปตามความต้องการของขุนนาง



ข้อดี / ข้อเสีย และผลกระทบของระบบระบบอุปถัมภ์ต่อสังคมอยุธยา 
     ด้านสังคม
            สังคมในสมัยอยุธยานั้นเป็นสังคมที่มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในสถานภาพและความต่างทางชนชั้นในสังคม อาจเป็นเพราะอยู่ภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนา (แนวคิดเกี่ยวกับบุญกรรม) เช่น มองว่ากษัตริย์เป็นผู้มีบุญญาธิการมาเกิด หรือที่ตนเกิดมาในสถานภาพแบบนี้เพราะกรรมเก่าหรือเพราะบุญของชาติที่แล้ว จึงต้องยอมรับในสถานภาพของตนและยอมรับผู้ที่มีฐานะหรือสถานภาพที่สูงกว่า ทำให้คนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ การพัฒนาด้วยตัวเอง ดังนั้นไพร่เมื่ออยู่ในสังกัดของขุนนางแล้วก็จะได้รับการคุ้มครองจากอำนาจของขุนนางในกรณีที่ทำผิดกฎหรือได้รับความเดือดร้อน รวมถึงทำให้มีกลุ่มพวกพ้องของตน  ซึ่งอาจจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตได้ในระดับหนึ่งหากเปรียบเทียบกับไพร่ที่ไม่สังกัดกับขุนนางใดๆ และยังอาจได้รับการสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งที่ทำให้ไพร่นั้นมีอำนาจและสถานะเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ในส่วนของกษัตริย์และขุนนางจะเป็นการสร้างฐานอำนาจและสนับสนุนให้แก่กันในตำแหน่งที่สูงขึ้นและความมั่นคงในการปกครองบ้านเมืองของกษัตริย์  ซึ่งทำให้กษัตริย์สร้างฐานอำนาจกับคนกลุ่มหนึ่งว่าจะจงรักภักดีกับพระองค์  และช่วยพระองค์ในการแบ่งเบาภาระบ้านเมืองและควบคุมไพร่พลได้โดยที่พระองค์ไม่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นถูกปกครอง  ทำให้สภาพสังคมในสมัยนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย   และเป็นระบบระเบียบ  ซึ่งการเรียกไพร่พลมาใช้แรงงานจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและไม่ยุ่งยาก
ในขณะเดียวกันข้อเสียของการมีระบบนี้ในความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางและไพร่ นั้นทำให้ขุนนางมักจะให้การสนับสนุนผู้ที่ตนชอบและรักใคร่มากกว่าที่จะเห็นความสามารถของบุคคลนั้นเป็นหลัก  ส่วนผู้ใดที่ไม่ได้มีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนมากนักต่อตัวผู้เป็นนายนั้นมักจะได้รับแค่การคุ้มครองด้านพื้นฐาน  โดยก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันแม้จะอยู่ในสถานะเดียวกัน  แต่ได้รับอภิสิทธิ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งระบบอุปถัมภ์เป็นผลให้ระเบียบในสังคมนั้นไม่มีความแน่นอนเสมอไป เพราะถ้าหากไพร่ของตนกระทำผิดยังสามารถช่วยเหลือและปกป้องไม่ให้ได้รับโทษได้อย่างเต็มที่  จึงทำให้กฎหมายอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการต้านทานอำนาจของมูลนายได้  นอกเหนือจากนี้  การอุปถัมภ์กันยังก่อให้เกิดการยึดติดในฐานอำนาจที่ไพร่นั้นคุ้นชิน ดังนั้นถ้าหากฐานอำนาจขุนนางที่อุปถัมภ์ไพร่กลุ่มนั้นถูกโค่นล้มลง   ก็จะทำให้เหล่าไพร่ไม่ยอมรับในอำนาจของขุนนางคนใหม่  ซึ่งทำให้เกิดการก่อกบฏไพร่ขึ้น อาทิเช่น  กบฏพระยาพิเชียร  กบฏธรรมเสถียร  และกบฏบุญกว้าง  เป็นต้น

      ด้านการเมือง
            จากที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่าระบบศักดินาทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ เพราะ ระบบศักดินาทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นซึ่งความสัมพันธ์ของปัจเจกระหว่างชนชั้นนั้นก็ไม่เท่ากันทุกคน ซึ่งมีผลกระทบต่ออยุธยาในด้านลบมากกว่าด้านบวก โดยจะเห็นได้ว่า  การเกิดระบบอุปถัมภ์ในช่วงแรกยังไม่ส่งผลต่อสังคมอยุธยาเท่าไรนัก แต่มักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดจากการอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเองเสียส่วนใหญ่ โดยระบบอุปถัมภ์ในช่วงแรกนั้นอำนาจของเชื้อพระวงศ์จะมีมากกว่าขุนนาง ซึ่งจะเห็นได้จากรูปแบบการปกครองในสมัยพระเจ้าอู่ทองจนถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ได้สร้างกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนในการกำหนดให้เชื้อพระวงศ์ส่วนใหญ่ไปปกครองหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก  เป็นต้น  จึงทำให้ช่วงแรกเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในเครือญาติ  โดยเห็นได้จากเหตุการณ์  การยกทัพมาของสมเด็จพระไชยราชาจากเมืองพิษณุโลกมาประชิดกรุงศรีอยุธยา มาชิงราชสมบัติจากพระรัษฎาธิราชซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานที่มีพระชนมายุเพียง  5  พรรษา  หลังจากนั้นก็ได้นำพระรัษฎาธิราชไปสำเร็จโทษ[6] เป็นต้น  ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการอุปถัมภ์ที่ไม่เพียงพอระหว่างกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์  เนื่องจากกษัตริย์อ่อนแอเกินไปที่จะปกป้องบ้านเมืองและไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับตนได้  และเปรียบเสมือนเป็นการแย่งตำแหน่งที่ผู้มาก่อนสมควรจะได้  จึงทำให้ต้องเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ขึ้น  เพื่อทวงสิทธิ์และผลประโยชน์ของตนที่ควรจะได้กลับคืนมา
          แต่ในขณะเดียวกันการเกิดระบบศักดินาก็ทำให้เหล่าขุนนางในการอุปถัมภ์ไพร่ถือเป็นการสร้าง “บารมี” ให้กับตนเองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีผลในเรื่องของฐานอำนาจทางการเมืองของตัวขุนนางเองนั้นให้เข้มแข็งขึ้นและเริ่มเป็นผู้กำหนดบุคคลในการขึ้นครองราชย์ ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะการมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้น อันเกิดจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน  และเนื่องจากจำนวนขุนนางที่มีมากกว่าเชื้อพระวงศ์ ทำให้ขุนนางชักจูงเชื้อพระวงศ์ไปในทิศทางที่เหล่าขุนนางนั้นต้องการได้ง่ายขึ้น  โดยเห็นได้จาก เหตุการณ์ตอนหลังขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันถูกสำเร็จโทษ เหล่าขุนนางก็ได้อัญเชิญพระเฑียรราชาขึ้นครองราชย์ เพราะพระองค์มีสิทธิธรรมในการขึ้นครองราชย์ ซึ่งต่อมาสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ[7] เป็นต้น  นอกเหนือจากนี้  การที่กษัตริย์ทรงใช้สถานะแห่งความเป็นเทวราชามาอ้างในระบบศักดินาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับชนชั้นถูกปกครองโดยตรง  ทำให้ขุนนางได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนชั้นปกครองซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักร  ส่งผลให้ขุนนางมีสิทธิ์ที่จะชักจูงความคิดของคนชนชั้นถูกปกครองให้จงรักภักดีกับตนได้มากว่ากษัตริย์  เพราะเนื่องจากชนชั้นถูกปกครองอาจมองเห็นถึงผลประโยชน์และสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายที่จะได้รับมากกว่า   ทำให้ไพร่พลตกอยู่ในอำนาจของขุนนางอย่างสมบูรณ์  ซึ่งการมีจำนวนไพร่พลมากก็เท่ากับมีอำนาจและบุญบารมีมากเช่นกันและอาจเทียบเคียงบารมีตนกับกษัตริย์ 
             ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงลดบทบาทหน้าที่ของเชื้อพระวงศ์ที่ให้ดูแลหัวเมืองชั้นในและชั้นนอกมาเป็นหน้าที่ของขุนนางแทนเพื่อลดการแย่งชิงบัลลังก์ภายในเครือญาติ  ซึ่งเป็นการให้การอุปถัมภ์แก่ขุนนางที่มากขึ้น  ส่งผลให้ขุนนางนั้นได้มีอำนาจอย่างเต็มตัว  และด้วยหน้าที่แต่เดิมของขุนนางที่เป็นทั้งปรึกษาและผู้แทนของกษัตริย์ในกิจต่างๆของบ้านเมือง  ทำให้เกิดการวางพระทัยในความจงรักภักดีทำให้ขุนนางสามารถชักจูงกษัตริย์ให้พวกพ้องของตนให้ขึ้นมามีบทบาทอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผลให้กษัตริย์ต้องสูญเสียบัลลังก์ให้แก่ขุนนางในเวลาต่อมา  โดยเห็นได้จาก การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าปราสาททองที่ได้ครองราชย์สมบัติจากการแย่งชิงอำนาจมาจากเชื้อพระวงศ์  เนื่องจากช่วงปลายรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  พระองค์ต้องการจะให้โอรสได้ขึ้นครองราชย์แต่ตามกฎมณเฑียรบาลนั้นจะต้องเป็นพระอนุชาที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม คือ ฝ่ายพระโอรสและฝ่ายพระอนุชา แต่อำนาจในมือตอนนั้นอยู่ที่ออกญาศรีวรวงศ์ ทำให้ออกญาศรีวรวงศ์ ได้กำจัดขุนนางที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของตนและในที่สุดพระโอรส คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ได้ขึ้นครองราชย์ต่อพระราชบิดา แต่ด้วยความการหวาดระแวงในอำนาจที่มีของขุนนาง  และเกรงว่าพระยากลาโหม(ออกญาศรีวรวงศ์ )  จะมาแย่งชิงบัลลังก์จึงคิดจะกำจัด  แต่ความดันล่วงรู้ไปก่อนจึงทำให้พระยากลาโหมตัดสินใจรวบรวมกำลังแย่งชิงราชบัลลังก์และได้เชิญพระอาทิตยวงศ์ขึ้นครองราชย์  แต่ด้วยพระชนมายุที่น้อย เหล่าขุนนางจึงเห็นชอบที่จะให้พระยากลาโหมขึ้นครองราชย์แทน[8] เป็นต้น 
ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า  ระบบอุปถัมภ์นั้นได้แสดงให้เห็นว่าสังคมเน้นตัวบุคคลเป็นสำคัญมากกว่าระเบียบแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ทำให้เกิดสภาพของการขาดวินัยในตัวเอง ให้ความสำคัญแก่มิตรและพวกพ้องของตน ส่งผลให้กฎหมายที่ตราขึ้นนั้นไร้ความหมายตราบใดที่ผลประโยชน์และความสัมพันธ์สำคัญกว่าความถูกต้องตามกฎระเบียบทางสังคม  ซึ่งก่อให้เกิดการเข่นฆ่าตามมาจากการล้มล้างอำนาจเก่าทิ้งไป   อันเป็นผลกกระทบจากระบบอุปถัมภ์ที่เอื้อแก่ขุนนางในการสะสมไพร่พลจนทำให้กษัตริย์เกิดความหวาดระแวง  ทำให้ต้องสูญเสียขุนนางเป็นจำนวนมาก โดยในเวลาไม่ถึง 10 ปี อาจสูญเสียขุนนางเก่าๆไปเกือบ 100 คน ซึ่งผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมักจะเกิดความหวาดระแวงต่อขุนนาง  ที่เกรงว่าขุนนางจะใช้อำนาจที่มีมาปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของตนลงอีกด้วย โดยความหวาดระแวงย่อมทำให้เกิดการเข่นฆ่าตามมาเช่นกัน  
 นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์ยังส่งผลกระทบอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน  คือ  การเน้นการพึ่งพาผู้อื่นเป็นสำคัญ บางครั้งทำให้ดูเหมือนว่าละเลยความสำคัญของตัวเอง  เช่น  เหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีขุนนางจากต่างชาติอย่าง คอนสแตนติน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ เข้ามารับราชการและเป็นที่ไว้วางใจของสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างมาก ซึ่งจากการรับราชการทำให้ฟอลคอนเริ่มมีอำนาจจากการทำหน้าที่ในการค้าขาย มีนโยบายผูกขาดสินค้าทำให้หาเงินเข้าพระคลังได้มาก และได้รับเลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์  แต่ฟอลคอนได้ใช้ความเชื่อพระทัยของพระนารายณ์มาใช้ในการกำจัดขุนนางคือใส่ร้ายและกดขี่ที่มีปัญหากับตน  ทำให้บรรดาขุนนางไทยน้อยใหญ่เกรงกลัวไม่มีใครกล้าทูลฟ้องร้องเรื่องฟอลคอนแก่พระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น[9] ในช่วงปลายสมัยอยุธยา ในสมัยพระเพทราชาแบ่งการทหารและพลเรือนออกเป็น 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และชายทะเลตะวันออก เนื่องจากหวาดระแวงขุนนางผู้ใหญ่จึงแยกอำนาจปกครองหัวเมืองหรือมิให้ อำนาจทางการเมืองไปรวมอยู่กับขุนนางผู้ใดผู้หนึ่งและต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ให้สมุหพระกลาโหมดูแลหัวเมืองฝ่ายใดเลย เพราะหวาดระแวงผู้ที่อยู่ตำแหน่งนี้ซึ่งอาจมีส่วนร่วมในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในตอนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ[10]
ทำไมระบบอุปถัมภ์ถึงยังอยู่ในสังคมไทย                                          
        ระบบอุปถัมภ์เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาเนิ่นนาน  ไม่ว่าจะไปอยู่ส่วนใดของสังคมไทยก็จะพบเจอรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ในทุกๆที่   ซึ่งมีผลจาการวางรากฐานและรูปแบบการปกครองแบบระบอบศักดิตั้งแต่สมัยอยุธยา  อันเป็นต้นกำเนิดของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นทางการในสังคม  โดยรูปแบบการปกครองดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคนั้นจนสืบต่อมาจนถึงยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
         ในรัชสมัยของพระองค์ทรงคิดที่จะเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองแบบใหม่ทั้งหมดให้ทัดเทียมชาติตะวันตกในยุคนั้น  เพื่อที่จะป้องกันการรุกรานและการคุกคามของพวกจักรวรรดินิยมที่มักอ้างถึงความล้าหลังและป่าเถื่อนที่ไม่ทัดเทียมเท่าพวกตนมาเป็นข้ออ้างในการแสวงหาทรัพยากรในดินแดนต่างๆ ซึ่งการที่พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไม่ให้มีระบอบศักดินา ทำให้ระบบอุปถัมภ์ที่อยู่กับสังคมไทยมานานต้องสูญหายไปกับการปฏิรูปของพระองค์   แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบอุปถัมภ์นั้นไม่ได้หายไปไหนจากสังคมไทย  เพียงแค่ระบบอุปถัมภ์นั้นจะไม่ได้คงอยู่ในรูปลักษณ์ที่เป็นทางการและชัดเจนดังแต่ก่อน  โดยจะเห็นได้ว่า การที่ยกเลิกระบบศักดินาไปไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันของชนชั้นปกครองกับชนชั้นปกครอง  หรือชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครองต้องหายไปตาม   แต่ยังคงความสัมพันธ์ดังเดิมไว้ตราบใดที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้แก่กันและกัน   เมื่อเวลาผ่านไประบบอุปถัมภ์นั้นยังสามารถคงดำรงอยู่ต่อไปได้  แม้จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใดก็ตาม  อันเนื่องมาจากการยึดติดและถูกครอบงำจากอิทธิพลของระบบโครงสร้างการปกครองแบบเก่า  ที่เห็นเป็นแบบอย่างกันอยู่บ่อยๆจนเกิดเป็นการปลูกฝังค่านิยมของคนไทยที่ส่งทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  จากการปลูกฝังที่สอนให้เรารู้จักนอบน้อมและให้ความเคารพกับคนที่มีสถานภาพสูงกว่าตน  เพื่อที่จะได้ความรัก  ความเอ็นดู และการเกื้อหนุนในยามจำเป็นต่างๆได้  ซึ่งรูปแบบความคิดดังกล่าวส่งผลผู้คนในสังคมเกิดการแข่งขันกันเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์บางประการมาใช้ในการสนับสนุนการไปสู่สถานภาพที่ดีและการมีอำนาจที่มากขึ้น  โดยจะเห็นได้จาก   การทำงานในบริษัทในปัจจุบัน  หากเข้าใกล้ชิดเจ้านายอยู่บ่อยครั้งและมีของฝากมาให้เวลาที่ไปเที่ยวที่ใดมาก็ตาม  จะทำให้เจ้านายเห็นความดีความชอบ  และเกิดความรักความเมตตากับบุคคลนั้น  ส่งผลให้บุคคลนั้นจะได้รับการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่งเป็นคนแรก  เป็นต้น                  
       ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ของบุคคลสองบุคคลย่อมสามารถที่จะก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นได้   หากทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดี   แน่นแฟ้นเพียงพอ  และสามารถสร้างประโยชน์แก่กันละกันได้อยู่ ย่อมที่จะเกิดการอุปถัมภ์ต่อไป อันเป็นผลของการปลูกฝังค่านิยมของสังคมไทยที่ถูกครองงำจากระบบศักดินานั่นเอง  ด้วยเหตุนี้  ระบบอุปถัมภ์จะสามารถดำรงคงอยู่ต่อไปในสังคมไทยได้แม้ระบบศักดินาที่เป็นรากฐานของการอุปถัมภ์จะสูญไปแล้วก็ตาม            

สรุประบบอุปถัมภ์กับ ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น
ระบบอุปถัมภ์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในลักษณะพึ่งพากันไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในระดับไหนก็ตาม อาจกล่าวได้ว่ากษัตริย์อุปถัมภ์ขุนนางก็เพื่อให้ตนธำรงอยู่ได้ในการครองราชย์และให้ตนมีอำนาจฐานะที่มั่นคง ในขณะที่ขุนนางก็อุปถัมภ์ไพร่เพื่อที่จะให้ตนมีอำนาจทางการเมือง เพราะอำนาจทางการเมืองจะนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ตนทั้งทางการเงินและทางสังคม(บารมี) ส่วนไพร่นั้นเป็นผู้รับการอุปถัมภ์เพื่อที่ตนจะได้รับการคุ้มครองจากขุนนาง ทำให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีเพิ่มมากขึ้นในระดับหนึ่งโดยไพร่เองก็จะต้องทำงาน, รับใช้และภักดีเป็นการตอบแทน โดยระบบอุปถัมภ์นี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผลลัพธ์ของความสัมพันธ์นี้ก็ส่งผลกระทบกับสังคมโดยเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การก่อกบฏแย่งชิงบัลลังก์ การปูนบำเหน็จขุนนางที่ทำความดีความชอบ เป็นต้น ซึ่งแม้กาลเวลาและรูปแบบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ความสัมพันธ์ในลักษณะแบบอุปถัมภ์ก็ยังคงมีอยู่ ปรากฎออกมาในรูปแบบของเครือญาติ เส้นสาย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาครัฐเท่านั้นแต่ยังรวมถึงองค์กรต่างๆ   



บรรณานุกรม
จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. จดหมายมองซิเออร์ เวเรต์ ประชุมพงศาวดารเล่มที่ 25 (ประชุมพงศาวดารภาคที่41-42-43). พิมพ์ครั้งที่ 1, องค์การค้าของคุรุสภา : กรุงเทพฯ, 2552 
จิตรสิงห์ ปิยะชาติ, แผ่นดินประวัติศาสตร์อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่
1, กรุงเทพฯ: ยิปซีสำนักพิมพ์, 2554
รศ.ดนัย ไชยโยธา.ประวัติศาสตร์ไทย : ยุคอาณาจักรอยุธยา . พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2546
ภาสกร วงศ์ตะวัน, ไพร่ ขุนนาง เจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพฯ: ยิปซีสำนักพิมพ์. 2553
มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์, 2547
ศาสตราจารย์  ดร. สุจิต  บุญบงการ, ระบบอุปถัมภ์พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ แห่งจุฬามหาวิทยาลัย, 2545




[1] ศักดินาหมายถึง สิทธิหรืออำนาจในการถือครองที่ดิน( ซึ่งแยกคำว่า “นา” หมายถึง พื้นที่ปลูกข้าวและคำว่า “ศักดิ์” คือ อำนาจในความหมายเกี่ยวกับทรัพยากรและกำลังคน) รวมทั้งกำหนดจำนวนไพร่พลที่ครอบครองของขุนนาง, หลักเกณฑ์ในการปรับไหม และลำดับในการเข้าเฝ้าฯ อนึ่ง การกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เป็นไปตามฐานะที่พึงมีต่อสังคมและประเทศชาติ กล่าวคือความรับผิดชอบมากย่อมมีศักดินามาก แต่ในทางปฏิบัติศักดินาเป็นสิ่งสมมติ มิใช่หมายความว่า บุคคลแต่ละคนมีที่ดินครอบครองเท่าจำนวนศักดินาของตนจริงๆ

[2] ศาสตราจารย์  ดร. สุจิต  บุญบงการ, ระบบอุปถัมภ์,  พิมพ์ครั้งที่ 3,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ แห่งจุฬามหาวิทยาลัย, 2545), หน้า 47
[3] รศ.ดนัย ไชยโยธา.ประวัติศาสตร์ไทย : ยุคอาณาจักรอยุธยา .(กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2546 หน้า 184
[4] มานพ ถาวรวัฒน์สกุล, ขุนนางอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์,2547), หน้า 125
[5] ศาสตราจารย์  ดร. สุจิต  บุญบงการ, ระบบอุปถัมภ์,  พิมพ์ครั้งที่ 3,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ แห่งจุฬามหาวิทยาลัย, 2545), หน้า 159
[6] จิตรสิงห์ ปิยะชาติ, แผ่นดินประวัติศาสตร์อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ : ยิปซีสำนักพิมพ์.2554), หน้า 95
[7] จิตรสิงห์ ปิยะชาติ, แผ่นดินประวัติศาสตร์อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ : ยิปซีสำนักพิมพ์.2554), หน้า 101
[8] ภาสกร วงศ์ตะวัน, ไพร่ ขุนนาง เจ้า แย่งชิงบัลลังก์สมัยอยุธยา, (กรุงเทพฯ: ยิปซีสำนักพิมพ์. 2553), หน้า 116
[9] จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. จดหมายมองซิเออร์ เวเรต์ ประชุมพงศาวดารเล่มที่ ๒๕ (ประชุมพงศาวดารภาคที่๔๑ ต่อ ๔๒-๔๓). พิมพ์ครั้งที่ ๑, องค์การค้าของคุรุสภา : กรุงเทพฯ, ๒๕๒๒  )
[10] รศ.ดนัย ไชยโยธา.ประวัติศาสตร์ไทย : ยุคอาณาจักรอยุธยา .(กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2546 ),หน้า185